วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วิชา วิถีไทย


                          ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย

                                                           จำนงค์  แรกพินิจ *
1        แนวคิดสองกระแส
*  อาจารย์  ภาควิชาสังคมศาสตร์  คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยทักษิณ

ให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอิสระมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของตนเอง และการปฏิรูปการศึกษา ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของชาวบ้านและชุมชนมากขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้น การประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) ที่กำหนดให้คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ.2545-2549) ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน และใช้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาชี้นำการพัฒนา เหล่านี้ล้วนยืนยันให้เห็นอิทธิพลของแนวคิดใหม่ในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน

2        พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน

ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทิศทางการพัฒนาประเทศกำลังแพร่หลายในสังคมไทย หรือเมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผลจากการปะทะกันของความคิดสองกระแสดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้สังคมไทยมีโอกาสทบทวนแนวคิดและทิศทางการพัฒนาในอดีต แสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมของเรา

การพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยนั้น แต่เดิมเป็นหน้าที่หรืองานของรัฐ กิจกรรมหรืองานพัฒนาในยุคแรกๆเกิดขึ้นบนพื้นฐานการมองประชาชนในฐานะโง่ จน เจ็บ ขาดความรู้เรื่องการทำมาหากิน ล้าหลัง ไม่ทันสมัย และด้อยพัฒนา เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐจึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นให้มีความรู้และรายได้เพิ่มขึ้น โดยการฝึกอบรมอาชีพ จัดหาแหล่งทุน และบางครั้งก็ช่วยจัดการด้านการตลาด บทบาทของชาวบ้านเป็นเพียงผู้รับ ส่วนรัฐเป็นผู้ให้ แนวทางการพัฒนานี้ได้กลายเป็นหลักในการทำงานในช่วง 20 ปีแรกของการพัฒนาชนบทไทย คือระหว่าง พ.ศ.2503-2523

แม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แนวคิดในการพัฒนาชนบทไทยจะเปลี่ยนไปบ้าง จากการเน้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนมาเป็นแนวเศรษฐกิจ-สังคม เพราะเห็นว่าการพัฒนาต้องกะทำควบคู่กันทั้งสองด้าน จึงนำเรื่องกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่วิธีทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนไปจากเดิม คือหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กำหนดและมีบทบาทสำคัญเหนือชาวบ้านตลอดมา

ปี พ.ศ.2524 ได้เกิดปรากฎการณ์สำคัญที่นำไปสู่การพลิกโฉมการพัฒนาชนบทไทยในเวลาต่อมา กล่าวคือ องค์กรเอกชน (Non-Government Organization =NGO) ที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันวิเคราะห์งานที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนั้น พร้อมกับตั้งคำถาม 25 ข้อ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือเล่มเล็กๆชื่อ ใครพัฒนาใคร คำถามเหล่านี้เกิดจากงานพัฒนาที่ทำไปแล้วได้สร้างปัญหาให้ชาวบ้านมากมาย และวิธีการทำงานก็ยังเป็นแบบเดิม คือการสอน การบอกเล่า การจัดกระบวนการ และช่วยชาวบ้านทำงาน

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ.2510 องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการพัฒนาชนบทได้เกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย คือมูลนิธิบูรณะชนบนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งมูลนิธินี้ คือ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มีองค์กรทางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาคริสต์ทั้งนิกายโปรเตสแตนท์และแคธอลิคต่างได้ทำงานพัฒนาชนบทแนวใหม่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2508  และได้ก่อตั้งสภาแคธอลิคแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ.2516 หน่วยงานทั้งสองนี้ได้เป็นแหล่งประสบการณ์ของนักพัฒนาและองค์กรเอกชนพัฒนาชนบทรุ่นต่อๆมา

ผลจาการวิเคราะห์การทำงานและตั้งคำถามตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้นักพัฒนาเอกชนกลุ่มนี้และนักวิชาการจำนวนหนึ่งได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง วัฒนธรรมกับการพัฒนาชนบท เมื่อปลายปี พ.ศ.2524 เพื่อแสวงหาแนวทางให้การพัฒนาตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งหมายถึงการพิจารณาสภาพที่เป็นจริงของวิถีชีวิตชาวบ้าน ความเป็นมาหรือประวัติศาสตร์ ศักยภาพและพลังที่มีอยู่ในชุมชน

 ที่สำคัญ การสัมมนาในครั้งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมกับการพัฒนาไม่ใช้สองสิ่งที่แยกจากกัน แต่เป็นสิ่งเดียวกัน การพัฒนาคือการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นอกจากนั้น ยังเกิดการยอมรับว่าไม่มีใครรู้ปัญหาชาวบ้านดีไปกว่าชาวบ้าน และไม่มีใครแก้ปัญหาชาวบ้านได้ดีกว่าชาวบ้าน ฉะนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ปัญหาของชุมชนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

หากวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น จะพบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้สะท้อนลักษณะที่เป็นสากลและลักษณะเฉพาะของการพัฒนาชนบทไทยไปพร้อมกัน ลักษณะที่เป็นสากลก็คือ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อแนวคิดและทิศทางการพัฒนาของไทยตลอดช่วง 2 ทศวรรษแรกของการพัฒนา หลังจากนั้นการทำงานได้หันเข้าสู่ลักษณะเฉพาะที่ให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมชุมชน การค้นหาประสบการณ์ระดับชุมชน ทำให้เกิดทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ที่เกิดจากสภาพที่เป็นจริงของอดีตและปัจจุบันของสังคมไทย และการแสวงหาความร่วมมือจากทุฝ่าย ทั้งหมดนี้เป็นการพัฒนาอย่างรอบด้าน มีรากฐานอยู่ที่ระบบคุณค่าดั้งเดิม และแสวงหารูปแบบใหม่เพื่อสืบทอดจิตวิญญาณแห่งอดีตและการพึ่งตนเอง

สำหรับองค์กรเอกชนด้านการพัฒนาชนบท การสัมมนาในครั้งนั้นได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับยุทธวิธีในการทำงาน คนเหล่านี้ได้ลงพื้นที่ เข้าหมู่บ้าน ทรรศนะเปิดกว้าง ยอมรับคุณค่า และศักยภาพของชาวบ้าน ส่งผลให้ค้นพบผู้นำที่มีความสามารถ และบางคนได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้าน คนเหล่านี้มีภูมิปัญญาที่ประกอบด้วยภูมิรู้และภูมิธรรม

อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกๆ คำว่าภูมิปัญญาชาวบ้านใช้สื่อความหมายกันในวงนักพัฒนาเอกชนกลุ่มเล็กๆแล้วค่อยกระจายออกสู่หน่วยงานอื่นในเวลาต่อมา

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ให้ความสนใจต่อภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นหน่วยงานแรก  ดร.เอกวิทย์  ณ ถลาง ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานแห่งนี้ในขณะนั้นได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้จัดการประชุมสัมมนาครั้งสำคัญขึ้น 2 ครั้ง  ครั้งแรกจัดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี พ.ศ.2533 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และครั้งที่สอง จัดขึ้นที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2534 ในหัวข้อ ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและการพัฒนาชนบท การสัมมนาทั้งสองครั้งนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญให้แนวคิดนี้เข้าสู่แนวนโยบายของรัฐ ดังเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2535-2539) ในส่วนที่ว่าด้วยวัฒนธรรมกับการพัฒนา



3        ความหมายของภูมิปัญญาชาวบ้าน



3.1     การให้ความหมาย  นักวิชาการและผู้ที่เกี่ยวข้อง สนใจงานด้านภูมิปัญญาต่างเห็นพ้องต้องกันในการให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ให้ความสำคัญต่อองค์ความรู้  ความรู้ และความรอบรู้ในด้านต่างๆของชาวบ้าน และชาวบ้านสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้แก้ปัญหาที่ต้องประสบในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ชีวิต ครอบครัว และชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข หรือเกิดดุลยภาพในทุกระดับ



3.2     องค์ประกอบ การให้ความหมายดังกล่าวข้างต้น ทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้านให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังนี้

1)  องค์ความรู้  หมายถึง ความรู้หลายอย่างมาเชื่อมโยงกันเป็นชุดความรู้  ด้วยเหตุนี้ กิจกรรมใดของชาวบ้านจะถูกยกให้เป็นกิจกรรมทางภูมิปัญญาก็ต่อเมื่อได้รับการพิสูจน์แล้วว่ากิจกรรมนั้นเกิดจากองค์ความรู้ ไม่ใช่ความรู้เดียว

ตัวอย่าง เกษตรธาตุสี่ ของนายหรน  หมัดหลี  อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  นายหรน  หมัดหลีเริ่มต้นทำการเกษตรจากการรู้จักชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ในฐานะเกษตรกรยากจน เขาต้องรู้จักพืชที่ต้องการจะปลูกทุกชนิดเป็นอย่างดี และนำความรู้เหล่านั้นมาวางแผนการเพาะปลูก พืชชนิดใดจะให้ผลภายใน 1 เดือน  3 เดือน  6 เดือน  และ12 เดือน เพื่อให้ครอบครัวมีอาหารและรายได้ตลอดปี

นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังมีความรู้เรื่องดิน ก่อนปลูกพืชทุกชนิดต้องมีการทดสอบว่าเหมาะสมกับดินบริเวณนั้นหรือไม่ มีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสังคมของพืช  ความรู้นี้มีพื้นฐานมาจากการร่ำเรียนแพทย์แผนไทย ทำให้เขามองพืชทุกชนิดว่ามีธาตุสี่ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม และไฟ เช่นเดียวกับคน และได้ใช้ความรู้นี้มาวางหลักในการเพาะปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น หลักในการปลูกก็คือการนำพืชที่มีลักษณะตรงข้ามกันมาปลูกในหลุมเดียวกัน เช่น พืชที่มีธาตุน้ำต้องปลูกคู่กับพืชที่มีธาตุไฟ เป็นต้น การปลูกพืชในลักษณะนี้จะไม่ทำให้ต้นไม้แต่ละชนิดส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ต้นไม้แต่ละชนิดต่างให้ดอกผลตามธรรมชาติของมันเอง

นายหรน  หมัดหลี เห็นว่าไม้ผลพันธุ์ดี เช่น ทุเรียนหมอนทองมีราคาแพง คนยากจนไม่มีกำลังซื้อ เขาจึงปลูกทุเรียนพื้นบ้าน ซึ่งมีราคาถูก ทำให้คนจนในชุมชนสามารถซื้อไปบริโภคได้ ตลาดของเขาจึงอยู่ที่หมู่บ้าน ไม่ใช่การส่งออกสู่เมืองใหญ่ หรือต่างประเทศ ตลาดของนายหรน  หมัดหลีจึงเป็นตลาดของคนยากคนจน หวังพึ่งตนเอง ทำให้เขาไม่ตกเป็นเบี้ยล่างของพ่อค้า

การเชื่อมโยงความรู้หลายด้านนี้เข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์หรือชุดความรู้ด้านการเกษตรของนายหรน  หมัดหลี ที่เรียกว่า เกษตรกรรมธาตุสี่

2)  เทคนิค หรือวิธีการ หมายถึง กลวิธีหรือการจัดการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้สอดคล้องกับองค์ความรู้ เทคนิคหรือวิธีการจะมีความแตกต่างกันออกไปตามประเภทของภูมิปัญญา เช่น เทคนิคการผลิต เทคนิคการจัดการ และเทคนิคการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ เป็นต้น

            ตัวอย่าง  จากองค์ความรู้ด้านการเกษตรธาตุสี่ ดังกล่าวแล้วข้างต้น นายหรน  หมัดหลีได้นำมาปฏิบัติผ่านทางเทคนิคหรือวิธีเพาะปลูกพืช  ในช่วงแรก เขาเริ่มปลูกพริก มะเขือ แตงกวา และตะไคร้ จากนั้นจึงปลูกกล้วย และไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นๆตามมา โดยเฉพาะไม้ผลไม้ยืนต้น จะปลูกหลุมละ 3 ต้น แต่ละต้นมีธาตุต่างกันตามหลักการเพาะปลูกที่กล่าวข้างต้น นอกจากนั้น นายหรน  หมัดหลียังคำนึงถึงความสูง รูปทรง และลักษณะการให้ดอกออกผลของไม้แต่ละต้นที่นำมาปลูกร่วมกัน

            ในด้านการดูแลหรือบำรุงรักษาต้นไม้ นายหรน  หมัดหลีมีวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับธรรมชาติ เช่น ไม่ถางหญ้าในหน้าแล้ง ใช้ปุ๋ยจากซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย และไม่ตัดแต่งกิ่ง เพราะเชื่อว่าธรรมชาติจะจัดการสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวมันเอง กล่าวคือกิ่งที่อยู่ไม่ได้ ไม่เหมาะสมก็จะร่วงหล่นไปเอง

            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเทคนิคหรือวิธีการเพาะปลูกพืช ที่ทำให้สวนของนายหรน หมัดหลีมีลักษณะเฉพาะ แตกต่างจากสวนของเกษตรกรอื่นๆ แต่สอดคล้องกับองค์ความรู้ของตนที่สั่งสมมา

3)  การรับใช้ชีวิตในปัจจุบัน  ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ใช่เรื่องเล่าในอดีต ไม่ใช่ของเก่าที่แสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่เป็นสิ่งที่มีตัวตน และผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถรับใช้วิถีชีวิตผู้คนในปัจจุบัน หรือมีพลังในสังคมยุคใหม่

การทำการเกษตรแบบธาตุสี่ของนายหรน  หมัดหลีได้พิสูจน์ให้เห็นว่าครอบครัวของเขามีอาหาร มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และส่งเสียลูกจำนวน 11 คนให้ได้รับการศึกษาอย่างถึง และเกือบทั้งหมดเรียนจบระดับอุดมศึกษา  และการเกษตรแบบนี้ยังได้กลายเป็นตัวแบบหรือแบบอย่างที่ดีที่เกษตรกรทั่วประเทศเดินทางมาเรียนรู้อย่างไม่ขาดสาย

การพิจารณาองค์ประกอบของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะความรู้ที่กล่าวนี้ ทำให้สามารถวิเคราะห์ต่อไปได้ว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านน่าจะเป็นคำเดียวกับเทคโนโลยีชาวบ้าน เพราะเทคโนโลยีได้รวมเอาความรู้และเทคนิคไว้ด้วยกัน เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือ หรือเครื่องใช้ไม้สอยเพียงอย่างเดียว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การหมักปลาร้าในภาคอีสาน น้ำปูในภาคเหนือ และน้ำบูดูในภาคใต้ต่างเป็นภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในตัวมันเอง



          3.3  ประเภทของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในฐานะของความรู้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

1)  ภูมิปัญญาชาวบ้านที่เป็นนามธรรม ได้แก่ โลกทัศน์และชีวทัศน์ เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในชีวิตประจำวัน

2)   ภูมิปัญญาชาบ้านที่เป็นรูปธรรม หรือแบบแผนความประพฤติปฏิบัติ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะด้าน เช่น การทำมาหากิน การเกษตร หัตถกรรม ศิลปะและอื่นๆ



3.3  ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการ  นอกจากการพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะความรู้แล้ว อีกแง่หนึ่งสามารถพิจารณาได้ในเชิงกระบวนการ ซึ่งจะสอดคล้องกับสภาวะของภูมิปัญญาที่มีลักษณะเลื่อนไหล หรือพลวัตสูง ไม่หยุดนิ่งตายตัว และมีพัฒนาการตลอดเวลา

การพิจารณาภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการนี้ ควรเริ่มต้นวิเคราะห์ให้เห็นการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมสองกระแส กระแสแรกคือ วัฒนธรรมหรือแนวคิดเก่า ซึ่งเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ในขณะนั้น และการเข้ามาของวัฒนธรรมหรือแนวคิดใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะขัดแย้งกัน การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมหรือสภาวะทั้งสองกระสนี้จะนำไปสู่การปรับตัวของชาวบ้านเพื่อความอยู่รอด ผลจากการปรับตัวนี้จะนำไปสู่กระแสที่สาม หรือกระแสทางเลือก อันเป็นผลจากการสังเคราะห์วัฒนธรรมสองกระแสเข้าด้วยกัน กระแสที่สามหรือกระแสทางเลือกนี้จะช่วยลดความขัดแย้งและลดการกวัดแกว่งในวิถีชีวิตของผู้คน เกิดความราบรื่นในการดำเนินชีวิต ซึ่งรวมถึงการสืบทอดวัฒนธรรมหรือคุณค่าของสังคมให้ดำรงต่อไป

ตัวอย่าง  การใช้แรงงานของชาวบ้านในจังหวัดสงขลา ที่ได้พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนแรงงานของตนขึ้น เพื่อรองรับการเข้ามาของระบบเกษตรกรรมแบบใหม่

ในอดีต ชาวบ้านในภาคใต้มีวัฒนธรรม-ประเพณีอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงาน คือการออกปาก-กินวาน ซึ่งเทียบได้กับการลงแขกในภาคกลาง เอามื้อในภาคเหนือ และเอาแฮงในภาคอีสาน การออกปาก-กินวานก็คือ การขอแรงหรือออกปากหรือวานให้เพื่อนบ้านมาช่วยทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นงานเร่งด่วนให้เสร็จทันเวลา เมื่อออกปากหรือวานคนอื่นมาช่วยงาน เจ้าของงานหรือเจ้าภาพหรือผู้ออกปากจะต้องจัดเตรียมอาหารคาวหวานไว้เลี้ยงดูผู้ที่มาช่วยงาน ทำให้เกิดคำซ้อนขึ้นมาอีกคำคือ กินวาน  แรงงานจากการออกปาก-กินวานนี้จะใช้เกือบทุกโอกาส เช่น งานในเรือกสวน ไร่ นา การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และงานประเพณี-พิธีกรรมต่างๆที่ถูกกำหนดด้วยเวลา เป็นต้น

ต่อมาเมื่อชาวบ้านในภาคใต้ โดยเฉพาะชาวสวนยางพาราต้องต้อนรับการเข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ คือระบบเกษตรกรรมแบบพืชเดี่ยว หรือการทำสวนยางพันธุ์ดี ที่ต้องใช้แรงงานแบบเข้มข้น โดยมีระบบแรงงานใหม่ คือการจ้างงาน ซึ่งเป็นระบบการแลกเปลี่ยนแบบต่างตอบแทน โดยใช้หลักเหตุและผลทางเศรษฐกิจเข้ามาเป็นตัวกำหนด เข้ามาเป็นฐานรองรับการทำสวนยางแบบใหม่

การปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่นี้ ได้ก่อปัญหาให้แก่ชาวบ้านหรือเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้ เพราะระบบแรงงานแบบเดิม คือออกปาก-กินวานไม่สามารถรองรับการใช้แรงงานแบบเข้มข้นในสวนยางพันธุ์ดี ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่เข้าสู่ระบบจ้างแรงงาน จึงก่อให้เกิดการผสมผสานวัฒนธรรมเก่าและใหม่เข้าด้วยกัน

ในกรณีจังหวัดสงขลา ชาวบ้านหรือเกษตรกรชาวสวนยางจำนวนมากได้พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนแรงงานใหม่ขึ้น เรียกว่า แชร์แรงงาน หรือลงพรรค หรือทำ-พัก ซึ่งเป็นระบบแรงงานรวมหมู่ ที่ยังคงคุณค่าเดิมของแรงงานระบบเก่า คือการพึ่งพาอาศัยกัน และผสมผสานด้วยคุณค่าใหม่ของระบบจ้างงาน คือการแลกเปลี่ยนแรงงานในหน่วยหรือปริมาณที่เท่าเทียมกัน เช่น จำนวนชั่วโมงเท่ากัน ผู้แลกเปลี่ยนแรงงานอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันเพราะมีแรงงานไม่แตกต่างกันมากนัก ดั่งนี้เป็นต้น  กระบวนการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนแรงงานใหม่ สามารถแสดงให้เห็นด้วยแผนภาพดังต่อไปนี้

                                               
                กล่องข้อความ: ภูมิปัญญาชาวบ้าน
                                กล่องข้อความ: รูปแบบแรงงานใหม่ แชร์แรงงาน ลงพรรค ทำ-พัก

          

                กล่องข้อความ: วัฒนธรรมใหม่ (จ้างงาน)



ในแง่นี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงอยู่ในฐานะกระบวนการที่ก่อให้เกิดการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่ และมองว่าความรู้ ซึ่งแสดงออกผ่านรูปแบบกิจกรรมเป็นผลผลิตของกระบวนการภูมิปัญญา  คำถามในการวิเคราะห์ภูมิปัญญาชาวบ้านเชิงกระบวนการจึงอยู่ที่กระบวนการแบบไหนหรืออย่างไร จึงก่อให้เกิดความรู้และกิจกรรมแบบนั้น ไม่ใช่วิเคราะห์ที่ตัวความรู้หรือรูปแบบกิจกรรมกิจกรรม

เมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งก็จะพบว่า กระบวนการภูมิปัญญา หรือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการผสมผสานดังกล่าวข้างต้นน่าจะเป็นสิ่งเดียวกับกระบวนการเรียนรู้ เพราะกระบวนการเรียนรู้เป็นเหตุให้เกิดความรู้และรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้กระบวนการภูมิปัญญากับกระบวนการเรียนรู้จึงมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน



4        ลักษณะของภูมิปัญญาชาวบ้าน

ภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งในฐานะความรู้และกระบวนการจะมีลักษณะโดยรวม ดังนี้

1)      เป็นรวมที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ เทคนิค และมีพลังในสังคมปัจจุบัน

2)  แสดงระหว่างความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ

3)      เป็นองค์รวม หรือเชื่อมโยงกิจกรรมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต

4)  เป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว การเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม

5)      เป็นแกนหลักหรือกระบวนทัศน์ในการมองชีวิต และเป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ

6)      มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อปรับสมดุลในการพัฒนาทางสังคมตลอดเวลา

7)      มีลักษณะเฉพาะหรือเอกลักษณ์ในตัวเอง



5        ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้าน

1)      ความรู้เดิมในเรื่องนั้นๆ ผสมผสานกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ

2)      การสั่งสมและการสืบทอดความเรื่องในเรื่องนั้นๆ

3)      ประสบการณ์เดิมที่สามารถเทียบเคียงกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ใหม่

4)      สถานการณ์ที่ไม่มั่นคง หรือมีปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้

5)      รากฐานทางพระพุทธศาสนา หรือศาสนาอื่นๆที่ผู้คนยึดถือ









6   การประยุกต์ภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย

1) นามธรรมและรูปธรรม ดังได้กล่าวแล้วตอนต้นแล้วว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านมีทั้งลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมสามารถแยกย่อยยออกได้อีกหลายประเภท ทั้งทางด้านเกษตรกร หัตถกรรม สุขภาพ แลอื่นๆ กล่าวง่ายๆก็คือ ภูมิปัญญาชาวบ้านมีรูปแบบที่หลากหลาย แต่ในความหลากหลายนั้นมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ คุณค่าที่อยู่เบื้องหลังภูมิปัญญานั้นๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม โดยเฉพาะโลกทัศน์และชีวะทัศน์ของผู้คนและชุมชน เช่น ดุลยภาพของธรรมชาติและการอยู่ร่วมกันในชุมชน  การพึ่งตนเอง และการพึ่งพาอาศัยกัน เป็นต้น

โดยทั่วไป รูปแบบ ซึ่งเป็นเทคนิคหรือวิธีการจัดการจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่วนที่เปลี่ยนแปลงช้าหรือแทบจะไม่เปลี่ยนเลยคือ คุณค่าของภูมิปัญญานั้น ด้วยเหตุนี้ การประยุกต์ภูมิปัญญาเพื่อการพัฒนาชุมชนจึงมุ่งไปสู่รูปแบบหรือวิธีการจัดการที่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกันก็พยายามอย่างยิ่งที่จะรักษาหรือคงคุณค่าเดิมไว้ให้มากที่สุด

ตัวอย่างแชร์แรงงาน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานของชาวบ้านในชุมชนในจังหวัดสงขลาที่กล่าวแล้วข้างต้น สามารถนำมาแสดงให้เห็นรายละเอียดในการประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านได้ดังนี้



                      นามธรรม                              รูปธรรม/กิจกรรม                           ลักษณะเด่น

                       (คุณค่า)                            (แบบแผนพฤติกรรม)   



เก่า                 การพึ่งพาอาศัยกัน                      ออกปาก-กินวาน                 ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน      

…………………………………………………………………………………………………………………………………………..       

ใหม่                ความมีเหตุผลเชิงเศรษฐกิจ              การจ้างงาน                     มูลค่าของสิ่งของเป็น

                                                                                                            ตัวกำหนดการแลกเปลี่ยน

…………………………………………………………………………………………………………………………………………..                                                      

การประยุกต์     การพึ่งพาอาศัยกัน                       แชร์แรงงาน                  ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และคำนึงถึง

                                                                   ลงพรรค,ทำ-พัก                   มูลค่าของสิ่งของที่นำมาแลกเปลี่ยน 





เห็นได้ว่า แม้รูปแบบการแลกเปลี่ยนแรงงานจะเปลี่ยนไป แต่คุณค่าดั้งเดิมของการพึ่งพาอาศัยกันยังคงอยู่ และที่สอดคล้องกับวิถีการผลิตยุคใหม่มากขึ้น คือการนำเอาหลักเหตุและผลเชิงเศรษฐกิจ หรือความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยนเข้าผสมผสานกับคุณค่าเดิม  ในเชิงเปรียบเทียบ ชุมชนที่ไม่สามารถประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านในด้านการแลกเปลี่ยนแรงงานได้ ก็จะสูญเสียระบบการแลกเปลี่ยนแบบเดิม คือออกปาก-กินวาน และนำระบบจ้างงานเข้ามาแทนที่ ซึ่งชุมชนในลักษณะนี้ก็มีจำนวนมากในจังหวัดสงขลา



อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่สามารถชี้ให้เห็นการประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านในลักษณะที่กล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี ได้แก่กรณีหัตถกรรมเชือกกล้วย ที่ตำบลคูเต่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ตำบลคูเต่า ตั้งอยู่ติดทะเลสาบสงขลา เป็นชุมชนที่ปลูกกล้วยตานี หรือกล้วยพังลา ซึ่งเป็นกล้วยพื้นเมืองชนิดหนึ่งในภาคใต้ ชาวบ้านไม่นิยมบริโภคผลเพราะมีเมล็ดมาก แต่จะใช้ใบห่อสิ่งของและขนมเพราะมีความเหนียวและเป็นมัน และนำกาบหรือส่วนที่เป็นต้นกล้วยมาผ่าออกเป็นเส้น ตากแดดให้แห้งสำหรับทำเชือกผูกของ เนื่องจากตำบลนี้อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองหาดใหญ่ ชาวบ้านในอดีตจึงนำผลผลิตดังกล่าวจากกล้วยตานีหรือกล้วยพังลาไปขายในตัวเมือง

ต่อเมื่อความก้าวหน้าทางวัตถุมีมากขึ้น การบรรจุหีบห่อสินค้าในตลาดได้เปลี่ยนจากการใช้เชือกผูกมัดมาเป็นถุงพลาสติก หรือใช้เชือกจากเส้นใยสังเคราะห์แทน ทำให้เชือกกล้วยกล้วยตานีหรือกล้วยพังลาหมดบทบาท ไม่มีการซื้อขาย ผู้ปลูกกล้วยชนิดนี้จึงมีรายได้ลดลง

การนำเชือกกล้วยมาจักสานเป็นภาชนะต่างๆ ทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย รวมไปถึงตะกร้าบรรจุสิ่งของสำหรับใช้สอยในครัวเรือนจึงเกิดขึ้น ชาวบ้านตำบลคูเต่าได้เรียนรู้เทคนิคด้านการจักสานจากคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน และจากเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายหน่วยงาน จนสามารถพัฒนาเครื่องจักสานจากเชือกกล้วยของตนให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงระดับประเทศ

นับเป็นความพยายามของชาวบ้านตำบลคูเต่าที่พัฒนาหรือจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีในท้องถิ่นให้สามารถสร้างรายได้แก่คนในชุมชน เป็นการฟื้นฟูคุณค่าของเชือกกล้วยตานีหรือกล้วยพังลาให้กลับมามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม

2)  คุณค่าและมูลค่า  การประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้าน นอกจากมองในแง่นามธรรมและรูปธรรมแล้ว อีกแง่มุมหนึ่งสามารถนำเอาแนวคิดเรื่องคุณค่าและมูลค่าเข้ามาเป็นแนวทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมของเราในระยะที่เพิ่งผ่านมานี้จะมีความขัดแย้งกันค่อนข้างรุนแรงระหว่างแนวคิดสองแนวนี้

ภายหลังจากที่เราได้นำแนวคิดการพัฒนาตามแบบอย่างชาติทางตะวันตกมาเป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ ส่งผลให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางวัตถุมากขึ้น พร้อมกับนิยมมูลค่าหรือให้ความสำคัญต่อสิ่งต่างในเชิงปริมาณก็เพิ่มมากตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนในสังคมของเราอีกจำนวนหนึ่งที่ยึดถือหรือนิยมคุณค่า ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณ และรากเหง้าของตนเอง  ด้วยเหตุนี้ วิวาทะที่เกิดขึ้นในสังคมของเรา จึงมักเกี่ยวข้องกับความนิยมสองแบบที่ว่านี้

การนำคุณค่าและมูลค่ามาเป็นแนวทางประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคม จะเป็นการแก้จุดอ่อนอย่างหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งเก่งเรื่องคุณค่า แต่ไม่เก่งเรื่องมูลค่าให้หันกลับมาสร้างความสมดุลให้กับแนวคิดทั้งสอง เพื่อสร้างดุลยภาพแก่ชีวิต ชุมชน และธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบไป

ในที่นี้จะให้ข้อสังเกตว่า การประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านตามแนวคิดเรื่องคุณค่าและมูลค่านี้ น่าจะมีความเหมาะสมอย่างยิ่งกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น หัตถกรรม สมุนไพร การนวด และศิลปะต่างๆ รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าและพร้อมที่แปรเป็นมูลค่าถ้ามีการจัดการที่เหมาะสมัย

เห็นได้ว่าหัตถกรรมประเภทต่างๆจำนวนมากในปัจจุบันที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม เพราะมีสิ่งอื่นเข้ามาทดแทน แต่ยังคงมีการผลิต มีจัดการใหม่ พร้อมกับเปลี่ยนอรรถประโยชน์ของวัตถุสิ่งของเหล่านั้น จากภาชนะใช้สอยในครัวเรือนมาเป็นเครื่องตกแต่งบ้าน ได้ช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ผลิต และสร้างเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับสมุนไพร การนวด และการดูแลสุขภาพแบบไทย รวมถึงสถานบริการสุขภาพที่เรียกว่า สปา นี่คือคุณค่าเก่าที่การจัดการในรูปแบบใหม่ ส่งผลให้เกิดมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี

ข้อถกเถียงที่อาจถือว่าเป็นวิวาทะยอดนิยมอย่างหนึ่งในสังคมของเรา คือการปรับปรุงหรือปรับรื้ออาคาร สถาปัตยกรรมเก่า แต่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ได้ส่งผลให้ผู้คนแตกความคิดเป็นสองกลุ่มเสมอมา กลุ่มแรก ถือว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการทำลายจิตวิญญาณ สิ่งมีคุณค่าเช่นนี้ควรจะต้องหวงแหนและรักษาไว้สำหรับคนรุ่นหลัง กลุ่มที่สอง ให้การสนับสนุน เพราะเห็นว่าการปรับรื้อและการสร้างใหม่จะก่อให้เกิดมูลค่า เช่น อาคารเก่าหลังหนึ่ง ขนาด 4X8 ตารางเมตร มีเนื้อที่ใช้สอย 32 ตารางเมตร ถ้ารื้อออกแล้วสร้างอาคาร 4 ชั้นแทนก็ได้ได้พื้นที่ใช้สอยทั้งสิ้น 32X4=128 ตารางเมตร นั่นคือมูลค่าจะมากกว่าเดิม การสนับสนุนของกลุ่มที่สองนี้ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่เห็นความสำคัญของคุณค่าทางประวัติศาสตร์ แต่พวกเขาไม่สามารถตอบได้ว่าคุณค่าเหล่านั้นจะแปรเป็นมูลค่าได้อย่างไรถ้าไม่ทุบทิ้งแล้วก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ และดูเหมือนว่าพวกเขาก็ไม่ได้รับคำตอบนี้จากกลุ่มแรกเช่นกัน

ในช่วงหลัง ข้อขัดแย้งหรือวิวาทะนี้มีทางออกมากขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสังคมของเรามีประสบการณ์มากขึ้น ถนนคนเดิน จึง เกิดขึ้นในย่านเมืองเก่าหลายเมือง เพื่อให้เกิดการค้าขาย การท่องเที่ยว คุณค่าเดิมจึงได้แปรมาเป็นมูลค่า ส่งผลให้สถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งสามารถ ดำรงอยู่ต่อไป

การนำแนวคิดเรื่องคุณค่าและมูลค่ามาเป็นแนวทางประยุกต์ภูมิปัญญาชาวบ้านในการพัฒนาชุมชนและสังคม น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมยุคหลังสมัยใหม่ ผู้คนร้องหาจิตวิญญาณและวัฒนธรรมชุมชน ภูมิปัญญาชาวบ้านจำนวนมากในชุมชนสามารถนำมาประยุกต์ในแนวทางนี้ได้ทั้งสิ้น







 7  กรณีศึกษาภูมิปัญญาชาวบ้าน

          พัฒนาการ ของภูมิปัญญาชาวบ้านในช่วงที่ผ่านมานี้ ได้ก่อให้เกิดการศึกษา ค้นคว้า ประยุกต์ และพัฒนาภูมิปัญญาด้านต่างๆขึ้นมากมาย ภูมิปัญญาเหล่านี้ถ้าอยู่ในระดับบุคคลหรือปัจเจกบุคคลจะเรียกว่าภูมิปัญญา ชาวบ้าน ระดับกลุ่ม/องค์กร หรือชุมชน และเครือข่ายจะเรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบทุกภูมิภาคของประเทศไทย สำหรับภูมิปัญญาของสังคมของเรานั้นจะเรียกว่าภูมิปัญญาไทย ในที่นี้จะนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาแสดงให้เห็นพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น

1) ระดับบุคคลหรือหรือผู้รู้ ในที่นี้จะยกกรณีศึกษาภูมิปัญญาด้านการเกษตร โดยศึกษาเฉพาะกรณีและเปรียบเทียบ ประกอบด้วยวนเกษตรของผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม เกษตรธาตุสี่ ของนายหรน  หมัดหลี  สังคมวนเกษตร ของนายเคียง  คงแก้ว และเกษตรผสมผสาน ของนายฉันท์  สิทธิฤทธิ์

2) ระดับกลุ่ม/องค์กร หรือชุมชน ประกอบด้วยกรณีศึกษา กลุ่มสัจจะออมทรัพย์แบบพัฒนาครบวงจรชีวิตตำบลน้ำขาว (ครูชบ  ยอดแก้ว) อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ธนาคารชีวิตกลุ่มวัดอู่ตะเภาและวัดดอน (พระครูพิพัฒนโชติ) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง (นายประยงค์  รณรงค์) ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

3) ระดับเครือข่าย  ประกอบด้วยกรณีศึกษา เครือข่ายอินแปง อำเภอกุดบาด จังหวัดสกลนคร สมาคมฟื้นฟูหมู่บ้านชนบทจังหวัดสงขลา บริษัทเครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด จังหวัดนครศรีธรรมราช และเครือข่ายภูมิปัญญาไทย



8        ภูมิปัญญาชาวบ้านสู่ภูมิปัญญาไทย

การให้ความหมายภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะกระบวนการดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์ให้เห็นการเติบโตและการพัฒนาของภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าสู่ภูมิปัญญาไทย หรือจากระดับชุมชนสู่ระดับชาติ กระบวนการภูมิปัญญา ซึ่งในที่นี้ใช้ในความหมายเดียวกับกระบวนการเรียนรู้ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในทุกส่วนของประเทศ กำลังเติบโต และประสานพลังเข้าด้วยกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ผู้คน ชุมชน และสังคมไทย

นับจากปี พ.ศ.2504 ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504-2509) เป็นต้นมา รัฐบาลในขณะนั้นได้พยายามผลักดันนโยบายพัฒนาประเทศให้เข้าสู่ความทันสมัย ขณะที่ประชาชนและชุมชนยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิม ได้วิเคราะห์สภาพชุมชนและเกษตรกรในยุคนั้นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯเกิดขึ้นในภาวะที่ชุมชนและเกษตรกรไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โง่หรือล้าหลัง แต่ไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำไม เพราะขณะนั้นชุมชนมีเศรษฐกิจพอเพียง ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ และระบบความสัมพันธ์แบบแบ่งปันทำให้คนในยุคนั้นมีชีวิตไม่เดือดร้อน   ผู้ใหญ่วิบูลย์  เข็มเฉลิมย้ำว่า คนในภาคเกษตรไม่พร้อม ผมเองก็ไม่พร้อม ไม่สามารถรองรับวิถีชีวิตจากนโยบาย แต่ต้องทำตามสั่งเรื่อยมา อาศัยเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา เขาฝึกให้รู้จักขอ สุดท้ายใช้วิธีประท้วง อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้นโยบายของรัฐ ทำให้เกษตรกรและชุมชนต้องรับสิ่งใหม่ๆที่เข้ามาอย่างรวดเร็ว ระยะเวลาเพียงไม่กี่สิบปีหลังจากนั้นระบบการผลิต ความสัมพันธ์ และคุณค่าต่างๆ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนได้ถูกทำลายลงจนยากที่จะฟื้นฟูให้ได้ดังเดิม

ในช่วง 20 กว่าปีมานี้ เกษตรกรและชุมชนได้ปรับตัวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อพบว่าความสัมพันธ์ใหม่กับภายนอกทำให้ตนเสียเปรียบ การเรียนรู้ใหม่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มสร้างองค์กรชุมชนหรือองค์กรชาวบ้านเพื่อจัดความสัมพันธ์ใหม่กับภายนอก จัดการทรัพยากรใหม่ และสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอดและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมชุมชน

กระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้าน  เป็นกระบวนการเรียนรู้แบบลองถูกลองผิด หรือทำไปเรียนไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนจำนวนมาก หัวใจของการเรียนรู้แบบนี้อยู่ที่การปฏิบัติ โดยเฉพาะชุมชนที่ได้พัฒนาการเรียนรู้มาแล้วระดับหนึ่ง และมองไม่เห็นทางออกภายใต้ระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมในขณะนั้น ชุมชนต้องการสิ่งใหม่หรือทางเลือกใหม่  ต้องการความรู้ใหม่ เมื่อไม่มีหน่วยงานหรือองค์ใดตอบสนองได้ชุมชนจึงต้องสร้างกิจกรรม เรียนรู้จากกิจกรรม และสรุปประสบการณ์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ ระบบการจัดการใหม่ที่จะช่วยให้ชุมชนหลุดพ้นจากการครอบงำของระบบเก่า

ชุมชนไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เรียนรู้ระบบการผลิตและการจัดการยางพาราใหม่ผ่านประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนไม้เรียง จนไม้เรียงกลายเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมชุมชน เป็นโรงเรียนให้กลุ่มเกษตรกรและชุมชนชาวสวนยางทั่วประเทศได้เรียนรู้และฝึกฝน  ที่สำคัญประสบการณ์ชุดนี้ได้กลายเป็นนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนายางพาราของรัฐบาลในขณะนั้น ส่งผลให้เกิดโรงงานแปรรูปยางพารากระจายไปทุกจังหวัดที่ปลูกยาง ดังรายละเอียดที่กล่าวแล้วในกรณีศึกษาข้างต้น

ความสำเร็จและประสบการณ์เกี่ยวกับยางพาราในช่วงที่ผ่านมา ชุมชนไม้เรียงค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถรับมือหรือจัดการกับปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับยางพาราได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม นับจากการก่อตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2527 จนถึงปี พ.ศ.2537 เป็นเวลา 10 ปีที่การดำเนินงานอุตสาหกรรมชุมชนของไม้เรียงเป็นไปอย่างราบรื่น เต็มไปด้วยความหวัง และอนาคตที่สดใสรออยู่เบื้องหน้า แต่ในปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมา ราคายางพาราเริ่มตกต่ำ ผันผวน จนเรียกได้ว่าขาดเสถียรภาพ อันเป็นผลมาจากภาวะตลาดโลกและระบบการจัดการภายในประเทศ ส่งผลให้การดำเนินงานของโรงงานแปรรูปยางพาราต้องประสบปัญหาตลอดมา จนกระทั่งเศรษฐกิจของประเทศต้องประสบกับภาวะวิกฤต

ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี พ.ศ.2540 ส่งผลให้ชุมชนต้องปรับการเรียนรู้ใหม่ เพราะบทเรียนที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้แสดงให้เห็นว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ชุมชนไม่อาจควบคุมได้ กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้ประเทศต้องเปิดเสรีทางการค้าและการเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการเปิดเสรีทางการลงทุนที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จะมีส่วนอย่างมากต่อการคงอยู่หรือล่มสลายของชุมชนในอนาคต การเรียนรู้จึงพัฒนาขึ้นอีกก้าวหนึ่งเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นั่นคือการเรียนรู้เพื่อเท่าทันโลกภายนอก

กรณีชุมชนไม้เรียง บทเรียนที่ได้รับจากสถานการณ์ยางพาราในช่วงที่เพิ่งผ่านมาก็คือ ข้อสรุปที่ว่าชุมชนไม่สามารถพึ่งพายางพาราเพียงอย่างเดียว ส่วนทางออกจะเป็นอย่างไรนั้น คำตอบอยู่ที่กระบวนการภูมิปัญญาหรือกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน

ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง  เป็นองค์กรชุมชนของตำบลไม้เรียง ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนี้ ศูนย์แห่งนี้เริ่มต้นจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆจำนวน 8 หมู่บ้านในตำบลของตน หมู่บ้านละ 5 คน รวม 40 คน โดยกำหนดให้มีเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนรู้ระหว่างผู้นำชุมชนเหล่านี้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ต่อมาเวทีนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นสภาผู้นำชุมชนไม้เรียงในราวปี พ.ศ.2535 การพบปะกันในแต่ละครั้ง ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆจะนำเอาสิ่งที่ตนเองเห็นว่าเป็นปัญหามาพูดคุยกัน นานเข้าการพูดคุยแบบนี้ก็ถึงทางตัน เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาหรือหาทางออกได้ เพราะไม่มีใครมีข้อมูลมากพอที่จะวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของปัญหา

            ปัญหาหนึ่งที่สมาชิกของสภาแห่งนี้มักจะหยิบยกมาพูดคุยเป็นประจำ คือชาวบ้านตำบลไม้เรียงมีหนี้สินมาก ซึ่งทุกคนเห็นด้วย แต่เมื่อถามว่าเป็นหนี้มากเท่าไร ก็ไม่มีใครตอบได้ นี่คือที่มาของการปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ของสภาผู้นำชุมชนไม้เรียงในเวลาต่อมา โดยให้ผู้นำชุมชนจากหมู่บ้านต่างๆสำรวจและเก็บข้อมูลหนี้สินของชาวบ้าน และนำข้อมูลที่ได้กลับมาพูดคุยกันในการพบปะกันครั้งต่อไป

            การ ปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ จากการพูดคุย บอกเล่าประสบการณ์มาสู่การเรียนรู้บนฐานข้อมูล ได้ช่วยให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียงมองเห็นแนวทางในการวางแผนพัฒนา เพื่อให้ชุมชนของตนหลุดพ้นจากการพึ่งพายางพาราเพียงอย่างเดียว

            กระบวน การเรียนรู้ที่อยู่บนฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ไปวางแผนพัฒนาและแก้ปัญหาเพื่อให้ชุมชนของตน หลุดพ้นจากการพึ่งพานอกที่ชุมชนไม้เรียงเป็นผู้ริเริ่มและพัฒนาขึ้นนี้ รู้จักกันต่อมาว่า แผนแม่บทชุมชน และกลายเป็นประเด็นหลักของการวางแผนพัฒนาชุมชนในระดับชาติในทุกวันนี้  หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ด้านการวางแผนและพัฒนา โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ถือเอาการทำแผนแม่บทชุมชน หรือที่หน่วยงานนี้เรียกว่าแผนชุมชน เป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกตำบลต้องทำให้เสร็จภายใน 3 ปี แผนแม่บทชุมชน ซึ่งเป็นผลผลิตของกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้านหรือกระบวนการเรียนรู้ที่เริ่ม ต้นจากชุมชน และพัฒนาขึ้นเป็นกลไกระดับชาติและเป็นความหวังที่จะใช้กลไกตัวนี้เป็น เครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาเศรษฐกิจรากหญ้าในสังคมไทย



            ดังได้กล่าวแล้วในตอนต้นว่า แผนแม่บทชุมชนเป็นผลผลิตของกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้านหรือกระบวนการเรียนรู้ ด้วยเหตุนี้การจัดทำแผนแม่บทชุมชนชนจึงต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการเรียนรู้และบริหารกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ ประสบการณ์ในเรื่องนี้ของชุมชนไม้เรียงช่วยให้สรุปได้ว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้บนฐานข้อมูลข้อเท็จจริงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน การบริหารจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลต้องสอดคล้องกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ได้ข้อมูลถูกต้องตามความเป็นจริง เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการภูมิปัญญาชาวบ้านในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน

            ความสำเร็จของตำบลไม้เรียงในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน การวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้จากข้อมูลและข้อเท็จจริงนำไปสู่การเสนอแนวคิดวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหมายถึงการประกอบการที่ตั้งอยู่บนฐานทุน ความรู้ ทรัพยากรธรรมชาติ และผลผลิตของชุมชนอย่างสร้างสรรค์ เป็นระบบ ครบวงจร และแนวคิดนี้เองที่ส่งผลให้ชุมชนไม้เรียงได้นำเอาปัจจัยดังกล่าวข้างต้น มาสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเป้าหมายเพื่อกินเพื่อใช้ในชุมชนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าสินค้าจากภายนอก และลดการไหลออกของเงิน จนชุมชนไม้เรียงก้าวเข้าสู่  8 ชุมชน 8 ผลิตภัณฑ์

            นอกจากการนำเสนอแนวคิดเรื่องแผนแม่บทชุมชนแล้ว แนวคิดเรื่องวิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ก็ได้รับการพัฒนาที่ชุมชนไม้เรียง จนกระทั่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าวิสาหกิจชุมชนเป็นการประกอบการที่มีปรัชญา แนวคิด และการจัดการหรือความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่ต่างไปจากเศรษฐกิจกระแสหลักหรือทุนนิยม ต่างจากวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ซึ่งเป็นการย่อส่วนทุนนิยมเข้าสู่ชุมชน ไม่มีเอกลักษณ์หรือชุดความรู้ของตนเองที่จะพิสูจน์ให้เห็นความต่างจากเศรษฐกิจกระแสหลักนอกจากขนาดที่ไม่เท่ากันกัน

            ถึงวันนี้ วิสาหกิจชุมชนไม่เพียงจะเป็นนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมชุมชนเท่านั้น แต่แนวคิดเหล่านี้ได้กลายเป็นร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ………. ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และผ่านการพิจารณาในวาระที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

            ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นศักยภาพของภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ้าได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้ถูกทางก็จะแสดงพลังออกมาแก้ปัญหาให้ชุมชนและสังคมได้ในที่สุด



9        บทบาทของภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชนและสังคมไทย

9.1  ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชุมชน  ในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบท ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ดังนี้

1) ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดการประยุกต์วัฒนธรรมชุมชนเพื่อการพัฒนาชนบท จุดเด่นอย่างหนึ่งของภูมิปัญญาชาวบ้านคือ การให้ความสำคัญต่อคุณค่าซึ่งเป็นนามธรรม ไม่ยึดติดกับรูปแบบ ส่งผลให้ภูมิปัญญาชาวบ้านมีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับตัวได้ตามสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ผู้คนและชุมชนในชนบทจึงได้นำจุดเด่นนี้มาประยุกต์วัฒนธรรมชุมชน โดยเฉพาะการประยุกต์ประเพณี-พิธีกรรมต่างๆ เช่น การสืบชะตาแม่น้ำ การบวชป่า และผ้าป่าพันธุ์ไม้  เป็นต้น การประยุกต์ประเพณี-พิธีกรรมเหล่านี้ช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนค่อยๆฟื้นตัวขึ้น และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคนกับธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกัน ไม่ใช่การควบคุมหรือเอาชนะธรรมชาติอย่างที่ผ่านมา

2)  ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดกลไกใหม่ทางสังคมวัฒนธรรม แม้ว่าการพัฒนาประเทศในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุมากมาย ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น แต่อีกด้านของความก้าวหน้านี้กลับส่งผลให้ผู้คนและชุมชนถูกตัดออกจากกัน

สังคมชุมชนในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และการพึ่งพาอาศัยกันอย่างในอดีต หรือการช่วยเหลือกันโดยตรงแบบให้พี่ปันน้อง ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมได้คลายพลังลงไปมากแล้ว ชุมชนจึงได้สร้าง กลุ่มหรือองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่ช่วยให้คนในชุมชนหันกลับมาพึ่งพาอาศัยกันอีกครั้งหนึ่ง

กลุ่มหรือองค์กรชุมชนและเครือข่าย นับเป็นกลไกใหม่ทางสังคมวัฒนธรรมที่เป็นทั้งผลผลิตและกระบวนการของภูมิปัญญาชาวบ้าน และเป็นกลไกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนและชุมชนในปัจจุบัน

3) ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สถาบันของชุมชน  พัฒนาการของภูมิปัญญาชาวบ้านในช่วง 20 กว่าปีมานี้ ได้ส่งผลต่อการสร้างสรรค์สถาบันใหม่ของชุมชน ที่สำคัญมีดังนี้

สถาบันการเรียนรู้ ในช่วงที่ชุมชนต้องเผชิญกับปัญหาการพัฒนาและหมดหนทางแก้ไข ชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาได้พยายามแสวงหาทางออก โดยการรวมตัวเพื่อการเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างกัน เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ขึ้นในชุมชนต่างๆ บางชุมชนสามารถรักษาและพัฒนาความสัมพันธ์นี้ให้ต่อเนื่องและมั่นคงจนมีภาวะเป็นสถาบัน


           

4) ภูมิปัญญาชาวบ้านก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของสังคมชุมชน   การพัฒนาประเทศตามแนวคิดเดิมได้ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในชุมชน ยิ่งความเจริญทางด้านวัตถุมีมากเท่าใด ผู้คนก็จะถูกตัดขาดจากกันทางสังคมมากเท่านั้น การปรากฏตัวของภูมิปัญญาชาวบ้านได้ฉุดดึงให้ผู้คนที่แยกจากกันนี้ให้หันหน้าเข้าหากันอีกครั้งหนึ่ง

เห็นได้ว่าบทบาทของภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งในด้านการประยุกต์วัฒนธรรมชุมชนเพื่อการพัฒนา การสร้างกลไกลใหม่ทางสังคมวัฒนธรรม และการสร้างสรรค์สถาบันของชุมชนดังที่ได้กล่าวข้างต้น ต่างมีส่วนอย่างมากต่อการสร้างเป็นปึกแผ่นให้สังคมชุมชน กระทั่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เพิ่งผ่านมา ประชาชนจำนวนมากที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจในภาคเมืองต่างคืนสู่ชนบทหรือภาคเกษตร ซึ่งชุมชนได้พิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถรองรับคนเหล่านี้ไว้ได้ ปัญหาทางสังคมที่เป็นผลมาจากวิกตเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยจึงไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศทางอเมริการใต้หรือละตินอเมริการที่ประสบปัญหาเดียวกันไทย

            5)  ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นรากฐานทางการผลิต และเสริมสร้างเศรษฐกิจของชุมชนและสังคมไทย  ภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะความรู้หรือเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ทั้งการเกษตร การแปรรูป การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการทุน และการตลาด และภูมิปัญญาชาวบ้านในฐานะกระบวนการหรือการเรียนรู้ ล้วนเป็นพื้นฐานการผลิต เสริมสร้างรายได้ และการมีงานทำของคนในชุมชน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น