วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

การเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์

การเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์
รศ.ดร. สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต
คณะจิตวิทยา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


                         การเรียนรู้กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมนุษย์

   การเรียนรู้ (Learning)

เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ หลายคนมักจะนึกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งความจริงแล้วการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกสภาพการณ์ เมื่อพิจารณาจากความหมายของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยากำหนดไว้อาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาตราบใดที่คนเรายังมีปฎิสัมพันธ์กับสังคมอยู่ นักจิตวิทยากำหนดความหมายของการเรียนรู้ไว้ดังนี้

การเรียนรู้หมายถึง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือศักยภาพของพฤติกรรม ที่ค่อนข้างถาวร อันเกิดจากประสบการณ์ หรือการฝึกฝน (Kimble, 1961)

จากความหมายของการเรียนรู้ดังกล่าว สิ่งที่เราจะต้องมาทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนคือพฤติกรรม (Behavior)  พฤติกรรมในที่นี้จะหมายถึงสิ่งที่บุคคลกระทำหรือแสดงออก ที่สามารถสังเกตเห็นได้หรือวัดได้ตรงกัน  พฤติกรรมสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆด้วยกันคือ พฤติกรรมภายนอก(Overt Behavior) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง และพฤติกรรมภายใน
(Covert Behavior) เป็นพฤติกรรมที่ไม่สามารถสังเกตเห็นได้โดยตรง ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล (Private Behavior) ซึ่งได้แก่ ความคิด ความรู้สึก ความรู้ ทัศนคติ  ค่านิยม และการสนองตอบทางสรีระ (การเต้นของชีพจร ความดันโลหิต การเปลี่ยนแปลงคลื่นสมอง เป็นต้น)
เป็นต้น (Spiegler & Gueuremont, 1998)

การเรียนรู้ของคนเราเกิดขึ้นได้อย่างไร

การเรียนรู้ของคนเราอาจกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นได้สองทางด้วยกัน คือ

1.              การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
2.              การเรียนรู้จากประสบการณ์ทางอ้อม
การเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning) ของ B. F. Skinner (Skinner, 1953) ส่วนการเรียนรู้จากประสบการณ์ทางอ้อมนั้นสามารถอธิบายได้ด้วย ทฤษฎีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory)  ของAlbert Bandura (Bandura, 1977)

ทฤษฎีการเรียนรู้การวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning)


ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่า พฤติกรรมของคนเรานั้นเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการที่คนเรามีปฎิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม โดยทีสภาพแวดล้อมมีปัจจัยอยู่ 2 ตัวที่มีผลต่อพฤติกรรม ชึ่งได้แก่
เงื่อนไขนำ (Antecedents) และ ผลกรรม (Consequences)

เงื่อนไขนำ คือเหตุการณ์หรือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการเกิดพฤติกรรม เป็นปัจจัยที่บอกให้คนเรารู้ว่า เราควรทำหรือไม่ควรทำพฤติกรรมที่เราต้องการจะทำหรือไม่ เช่นสัญญานไฟแดง บอกให้เรารู้ว่าเราควรจะหยุดรถแม้ว่าเราต้องการที่จะขับรถต่อไปก็ตาม  หรือการที่เราเห็นคุณแม่อารมณ์ดี ก็จะเป็นสัญญานให้รู้ว่าถ้าจะขอเงินพิเศษ คุณแม่ก็คงจะให้เป็นต้น

ผลกรรม คือเหตุการณ์หรือสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการเกิดพฤติกรรม มีผลทำให้พฤติกรรมนั้นมีโอกาสที่จะเกิดบ่อยขึ้น สม่ำเสมอ หรือลดลง ยุติลง ในการอธิบายถึงกระบวนการเรียนรู้นั้น Skinner ให้ความสำคัญกับการจัดการผลกรรมมากที่สุด ผลกรรมที่สำคัญนั้น Skinner แบ่งออกเป็น3ประเภทด้วยกันคือ
1.              ตัวเสริมแรงทางบวก (PositiveReinforcer) คือผลกรรมที่ตามหลังพฤติกรรม แล้วทำให้พฤติกรรมนั้น เกิดบ่อยครั้งขึ้น หรือเกิดขึ้นสม่ำเสมอ กระบวนการที่ให้ผลกรรมแล้วทำให้พฤติกรรมเกิดบ่อยครั้งขึ้นนั้นเรียกว่า การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement)  เช่นการที่คนเราทำงานแล้วได้เงินเดือน เงินเดือนก็เป็นตัวเสริมแรงทางบวกให้คนเราทำงานบ่อยครั้ง หรือการที่เราแต่งตัวให้ดูดีแล้วได้รับคำชมว่าแต่งตัวเป็น ก็ทำให้เราแต่งตัวดีทุกครั้งที่ออกงาน คำชมก็จัดได้ว่าเป็นตัวเสริมแรงทางบวกต่อพฤติกรรมการแต่งตัวดีของเราเป็นต้น
2.              ตัวลงโทษ (Punisher) คือผลกรรมที่ตามหลังพฤติกรรม แล้วทำให้พฤติกรรมนั้น ลดลงหรือยุติลง กระบวนการที่ให้ผลกรรมแล้วทำให้พฤติกรรมลดลงหรือยุติลงนั้นเรียกว่า การลงโทษ (Punishment) เช่นการที่เราขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดแล้วถูกตำรวจจับ ปรับเงินไป 500บาท ทำให้เราไม่ขับรถเร็วอีกเลย การถูกปรับเงิน ก็จัดได้ว่าเป็นการลงโทษพฤติกรรมการขับรถเร็วของเรานั่นเอง
3.              การหยุดยั้ง (Extinction) คือการยุติการให้การเสริมแรง ต่อพฤติกรรมที่เคยได้รับการเสริมแรง กระบวนการดังกล่าวจะส่งผลทำให้พฤติกรรมนั้น ลดลงหรือยุติลงในเวลาต่อมา แต่ก่อนที่จะลดลง อาจมีการเกิดการระเบิดของพฤติกรรมขึ้นได้ เช่น การที่เด็กไปที่ศูนย์การค้ากับแม่และขอให้แม่ชื้อของให้ แม่ก็ชื้อให้แทบทุกครั้ง (แม่ให้การเสริมแรงทางบวกต่อพฤติกรรมการขอให้แม่ชื้อของให้) วันหนึ่งแม่ตัดสินใจไม่ชื้อให้เนื่องจากเห็นว่าไม่เหมาะสม แสดงว่าแม่กำลังใช้การหยุดยั้ง ผลจากการใช้การหยุดยั้งจะพบว่า เด็กจะขอด้วยเสียงอันดังขึ้น และอาจระเบิดถึงขั้นดิ้นกับพื้นได้ ซึ่งเราเห็นเหตุการณ์นี้ได้บ่อยๆในศูนย์การค้า แสดงว่าเด็กถูกการหยุดยั้งนั่นเอง

ประเภทของตัวเสริมแรงทางบวก

ตัวเสริมแรงทางบวกสามารถแบ่งออกได้เป็น 5ประเภทด้วยกันคือ

1.              ตัวเสริมแรงทางสังคม (Social Reinforcer) ได้แก่คำชม คำยกย่อง การให้ข้อมูลป้อนกลับทางบวก การกอด การแตะตัว การแสดงการยอมรับ เป็นต้น
2.              ตัวเสริมแรงที่เป็นวัตถุสิ่งของ (Material Reinforcer) ได้แก่สิ่งของต่างๆ เช่น รถ บ้าน เสื้อผ้า  น้ำหอม  และรวมทั้ง อาหารและขนม เป็นต้น
3.              ตัวเสริมแรงที่เป็นกิจกรรม หรือที่รู้จักในนามของหลักการของ Premack (Premack’s Principle) เป็นการใช้กิจกรรมที่บุคคลชอบมากมาเสริมแรงกิจกรรมที่บุคคลไม่ชอบทำหรือทำน้อย เพื่อให้บุคคลนั้นทำกิจกรรมนั้นมากขึ้น เช่นการที่เด็กชอบเล่นเกมแต่ไม่ชอบทำการบ้าน  ก็สามารถเพิ่มพฤติกรรมการทำการบ้านของเด็กได้ โดยบอกให้เด็กทำการบ้านก่อนแล้วจึงค่อยเล่นเกม เป็นต้น
4.              เบี้ยอรรถกร (Tokens Economy) เป็นการใช้เบี้ย คะแนน หรือดาว เป็นตัวเสริมแรง โดยที่เบี้ย คะแนนหรือดาวนั้นสามารถนำไปแลกตัวเสริมแรง อื่นๆได้ ตัวอย่างของเบี้ยอรรถกรที่เห็นได้ชัดคือ เงิน คูปองแลกของ หรือแต้มสะสมของบัตรเครดิต ที่สามารถนำไปแลกสิ่งของต่างๆได้ตามที่ต้องการ
5.              ตัวเสริมแรงภายใน (Covert Reinforcer) ได้แก่ความภูมิใจ หรือความสุข เป็นต้น

ตารางการเสริมแรง (Schedules of Reinforcement)
การเสริมแรงทางบวกสามารถดำเนินการได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
1.              การเสริมแรงแบบทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรม (Continuous Reinforcement) นั่นคือการให้การเสริมแรงทุกครั้งที่พฤติกรรมเป้าหมายเกิดขึ้น การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้พฤติกรรมที่ได้รับการเสริมแรงเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมาะกับการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น เพราะคนเราจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่จุดอ่อนของการเสริมแรงแบบนี้คือ ถ้าหยุดให้การเสริมแรง พฤติกรรมที่เคยได้รับการเสริมแรงนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว
2.              การเสริมแรงแบบครั้งคราว (Intermittent Reinforcement) เป็นการให้การเสริมแรงแบบไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเวลาหรือจำนวนครั้งของการแสดงพฤติกรรม ซึ่งการเสริมแรงแบบครั้งคราวนี้ นำมาใช้เพื่อแก้จุดอ่อนของการเสริมแรงแบบทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรม แต่ไม่เหมาะกับการใช้เพื่อพัฒนาพฤติกรรมใหม่ แต่ควรใช้เมื่อพฤติกรรมใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาแล้วและต้องการให้พฤติกรรมนั้น เกิดขึ้นสม่ำเสมอ

การชี้แนะ (Prompting)
การชี้แนะคือการจัดการกับเงื่อนไขนำนั่นเอง ทำได้โดยการให้สัญญาณ (Signs) หรือตัวชี้แนะ (Cues) เพื่อให้คนเราแสดงพฤติกรรมออกมา อย่างที่เราต้องการให้แสดงออก ซึ่งการชี้แนะสามารถทำได้ 3 วิธีด้วยกันคือ
1.              การชี้แนะโดยการใช้คำพูด (Verbal prompt) เป็นการใช้คำพูดให้คนเราทำพฤติกรรมบางอย่าง เช่น บอกให้เงียบ บอกให้เข้าชั้นเรียน หรือบอกให้แบ่งปันของเล่นให้กับเพื่อน เป็นต้น
2.              การชี้แนะโดยการใช้สัญญาณ (Sign prompt) คือการใช้สัญลักษณ์ต่างให้คนเราทำตาม เช่น สัญลักษณ์ห้ามสูบบุหรี่ สัญลักษณ์ห้องน้ำ สัญญาณจราจรเป็นต้น
3.              การชี้แนะโดยการใช้ร่างกาย (Physical prompt) คือการใช้ร่างกายชี้แนะให้คนเราทำตาม เช่นการจับมือให้เด็กเขียนหนังสือ หรือจับซ้อนรับประทานอาหาร เป็นต้น

การแต่งพฤติกรรม (Shaping)
การแต่งพฤติกรรมเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาพฤติกรรมใหม่ให้กับคนเรา โดยใช้หลักการการคาดคะเนความสำเร็จตามขั้นตอน (Successive approximation) เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปทีละพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่พฤติกรรมที่ต้องการ ส่วนวิธีดำเนินการนั้นมักจะใช้การชี้แนะร่วมกับการเสริมแรงทางบวก เช่นการฝึกการใช้โปรแกรม SPSS ก็อาจจะเริ่มจากการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ การเลือกโปรแกรม การใส่ข้อมูล และการใช้เมนูในการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นต้น

การแผ่ขยายสิ่งเร้า (Stimulus Generalization)
การแผ่ขยายสิ่งเร้าคือการที่คนเราสนองตอบในลักษณะเดียวกันต่อสิ่งเร้าที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ
สิ่งเร้าที่เคยเรียนรู้มาก่อน เช่น การที่นักศึกษากลัวอาจารย์ท่านหนึ่งในวิทยาลัย และต่อมากลัวอาจารย์ท่านอื่นๆในวิทยาลัย สุดท้ายกลัวที่จะไปวิทยาลัย ลักษณะดังกล่าว กล่าวได้ว่าเกิดการ
แผ่ขยายสิ่งเร้าขึ้นแล้ว แต่ถ้านักศึกษากลัวอาจารย์ท่านหนึ่งและไม่กลัวท่านอื่นๆอีก เราเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าเกิดการเรียนรู้การแยกแยะสิ่งเร้า (Stimulus Discrimination) ชึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อกระบวนการเรียนรู้

ทฤษฏีการเรียนรู้ทางปัญญาสังคม (Social Cognitive Theory)
ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่าพฤติกรรมของคนเราส่วนใหญ่นั้น เกิดขี้นจากการสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบในสภาพแวดล้อม (Bandura, 1977)  ตัวแบบในสภาพแวดล้อม สามารถแบ่งออกได้เป็น 2ชนิดด้วยกันคือ ตัวแบบที่เป็นชีวิตจริง (Live Model) เป็นตัวแบบที่มีคนเราเผชิญในชีวิตจริง เช่น พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ครู เพื่อน เป็นต้น ตัวแบบอีกชนิดหนึ่งคือ ตัวแบบสัญลักษณ์ (Symbolic Model) เป็นตัวแบบที่ทีเราเห็นโดยผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ภาพยนตร์ ทีวี หนังสือพิมพ์ การ์ตูน นิยาย เป็นต้น ตัวแบบทั้ง2ชนิดนี้มีผลต่อการเรียนรู้ของคนเราไม่แตกต่างกัน หากแต่ตัวแบบสัญลักษณ์ มีผลในวงกว้างกว่าเท่านั้น

เนื่องจากตัวแบบที่มนุษย์เราต้องเผชิญอยู่นั้นมีมากมาย  คำถามที่ตามมาคือ แล้วทำไมตัวแบบบางตัวมีอิทธิพลต่อคนบางคนมากกว่าอีกบางคน คำตอบอยู่ทีกระบวนการลอกเลียนแบบ ซึ่ง Bandura (1977) กล่าวว่ากระบวนการลอกเลียนแบบมีอยู่ด้วยกัน 4กระบวนการคือ
          1. กระบวนการสนใจ (Attention Process) นั่นคือผู้สังเกตจะต้องมีความสนใจในตัวแบบเสียก่อน จึงจะมีความคิดอยากลอกเลียนแบบ ซึ่งตัวแบบจะต้องมีลักษณะเด่น มีชื่อเสียง น่าสนใจ หรือมีลักษณะคล้ายกับผู้สังเกต อีกทั้งเป็นตัวแบบที่แสดงออกแล้วได้รับการเสริมแรง หรือการลงโทษ จะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ตัวแบบที่ได้รับการเสริมแรงจะทำให้ผู้สังเกตอยากทำตามแต่ในทางกลับกันตัวแบบที่แสดงพฤติกรรมแล้วถูกลงโทษ ผู้สังเกตก็จะไม่อยากลอกเลียนแบบพฤติกรรมนั้น นอกจากลักษณะของตัวแบบแล้ว สภาวะของผู้สังเกตก็มีผลต่อการให้ความสนใจในตัวแบบด้วย ถ้าผู้สังเกตอยู่ในสภาวะตื่นตัวก็จะให้ความสนใจในตัวแบบ แต่ถ้าเพลียหรือง่วงนอนก็จะไม่สนใจตัวแบบ นอกจากนี้ผู้สังเกตจะต้องไม่ถูกสิ่งเร้าอื่นๆดึงดูดความสนใจออกไปในขณะที่สังเกตตัวแบบอยู่
         2. กระบวนการจดจำ (Retention Process) เมื่อผู้สังเกตสังเกตพฤติกรรมของตัวแบบแล้ว การที่จะเรียนรู้จากตัวแบบได้ดี ผู้สังเกตจะต้องสามารถจดจำพฤติกรรมที่ตัวแบบแสดงออกได้ ซึ่งการที่จะจดจำได้ดีนั้น ลักษณะของตัวแบบจะต้องเป็นสิ่งที่ผู้สังเกตมีความคุ้นเคย หรือไม่ก็จะต้องเห็นบ่อยๆ และจะช่วยให้กระบวนการจดจำนั้นเป็นไปได้ด้วยดี ก็ควรจะต้องมีการชักซ้อมทั้งในการแสดงออกจริงๆ หรือ ชักซ้อมในความคิดก็ได้
         3. กระบวนการทำตาม (Reproduction Process) นั่นคือหลังจากที่ผู้สังเกตจดจำพฤติกรรมของตัวแบบได้ดีแล้ว ก็จะเข้าสู่กระบวนการทำตามตัวแบบ กระบวนการนี้จะทำได้ดีถ้ามีการให้ข้อมูลป้อนกลับ เมื่อลองทำตามพฤติกรรมของตัวแบบ  อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับความสามารถเดิมที่ผู้สังเกตมีอยู่
เช่น การที่ผู้ที่มีพื้นฐานทางด้านการเล่นเทนนิสเมื่อดูนักเทนนิสระดับโลกแข่งกันก็จะสามารถจดจำท่าต่างๆได้ง่าย และสามารถทำตามได้ง่ายกว่า  ผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางด้านการเล่นเทนนิสมาก่อนเลย
       4. กระบวนการแรงจูงใจ (Motivation Process) เป็นกระบวนการสุดท้ายที่จะทำให้ผู้สังเกตตัดสินใจจะทำตามพฤติกรรมของตัวแบบ นั่นคือผู้สังเกตจะพิจารณาดูว่าในสภาพการณ์ใด ที่แสดงพฤติกรรมตามตัวแบบแล้วได้รับการเสริมแรง การที่คาดว่าจะได้รับการเสริมแรงนี่เองทำให้เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ผู้สังเกต แสดงพฤติกรรมตามตัวแบบที่ตนเองลอกแบบมา 

นอกจากนี้ Bandura (1977) ยังได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ การรับรู้ความสามารถของตนเอง (Self-Efficacy) โดยที่เขาเชื่อว่าทุกคนจะมีการรับรู้ความสามรถของตนเฉพาะอย่าง นั่นคือคนบางคนจะรับรู้ว่าตนเองมีความสามรถในเรื่องการพูดแต่อาจจะรับรู้ว่าตนเองไม่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นมีผลต่อการกระทำในเรื่องนั้นๆ นั่นคือถ้าคนเรามีการรับรู้ความสามารถของตนสูงในด้านใดจะทำให้เขาสามารถแสดงออก ในสิ่งนั้นๆได้เต็มความสามารถของเขานั่นเอง การรับรู้ความสามรถของตนเองจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการแสดงออกของบุคคลในชีวิตประจำวัน เพราะปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการใช้ชีวิตของคนเราก็คือการรับรู้ความสามารถของตนเองนั่นเอง
               

การนำเอาแนวความคิดของทฤษฎีการเรียนรู้ไปพัฒนาพฤติกรรม

เนื่องจากการเรียนรู้นั้นก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก การนำเอาแนวคิดการเรียนรู้ไปใช้พัฒนาพฤติกรรมของคนเรา สามารถที่จะเริ่มจากการพัฒนาพฤติกรรมภายในไปสู่พฤติกรรมภายนอก หรือจากพฤติกรรมภายนอกไปสู่พฤติกรรมภายในก็ได้ ทั้งนี้เนื่องจากพฤติกรรมทั้งสองประเภทนี้มีผลซึ่งกันและกันนั่นเอง แต่ในกระบวนการพัฒนาตนนั้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรจะเริ่มต้นจากพฤติกรรมภายในไปสู่พฤติกรรมภายนอก เพราะว่าคนเรานั้นควรจะมีความตระหนักหรือต้องการที่จะพัฒนาตัวเองเสียก่อน จึงจะทำให้กระบวนการพัฒนาตนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้นขั้นตอนในการพัฒนาตนนั้นจึงควรเริ่มจากการ  คิดดี  พูดดี และทำดี  ซึ่งถ้าทุกคนทำได้ก็จะทำให้สังคมมีความสงบ และความสุขมากขึ้น
ความคิดอาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอุปนิสัยของคนเราทีเดียว     ดังคำกล่าวของ หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่กล่าวว่า                  
         เธอจงระวังความคิดของเธอ เพราะความคิดของเธอ จะกลายเป็นความประพฤติของเธอ
           เธอจงระวังความประพฤติของเธอ เพราะความประพฤติของเธอ จะกลายเป็นความเคยชิน
           ของเธอ
           เธอจงระวังความเคยชินของเธอ เพราะความเคยชินของเธอ จะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ
           เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ เพราะอุปนิสัยของเธอ จะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต

การคิดดี หรือคิดในทางบวกนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่นักศึกษาทุกคนควรจะให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนาตน ซึ่งในการที่จะพัฒนาตนได้นั้นนักศึกษาจะต้องพิจารณาใน 3 ประเด็นต่อไปนี้
1.นักศึกษาต้องมีความตระหนักในตนเอง ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาต้องรู้ตนเองตลอดเวลาว่าตนกำลังคิดอะไรอยู่หรือกำลังทำอะไรอยู่  เพราะถ้าบุคคลใดไม่รู้ตนเองว่าตนเองกำลังคิดหรือทำอะไรอยู่ บุคคลนั้นก็ไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาตนเองได้เลย ซึ่งวิธีการที่จะทำให้ตนเองมีความตระหนักได้นั้นสามารถทำได้โดยการที่นักศึกษาอาจจะจดบันทึกสิ่งที่ตนเองคิดหรือกระทำทุกวัน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณา ก็จะทำให้นักศึกษาทราบว่าตนเองมีความคิดหรือพฤติกรรมเช่นใด สมควรพัฒนาไปในทิศทางใด มากน้อยเพียงไร เช่น นักศึกษาอาจคิดว่าตนเองไม่มีเวลาอ่านหนังสือ นักศึกษาอาจเริ่มต้นโดยบันทึกว่า ในวันหนึ่งๆนั้น ตนเองได้ใช้เวลาทำอะไรบ้าง การบันทึกเช่นนี้ทำให้นักศึกษาได้รู้ถึงเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะจัดการอย่างใดกับเวลาที่ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันเพื่อให้มีเวลาในการอ่านหนังสือได้ หรือนักศึกษาอาจมีความวิตกกังวลกับการสอบ เนื่องจากกลัวว่าจะทำข้อสอบไม่ได้ดี ทำให้เกิดความวิตกกังวลสูง อาจมีผลทำให้หมดกำลังใจในการอ่านหนังสือ ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจและสามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้
2.นักศึกษาจะต้องมีความคิดว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองนั้นเป็นผลมาจากการกระทำของตนเอง การที่จะทำคะแนนสอบได้ดี การที่มีเพื่อนมาก หรือการที่มีคนยอมรับตนเองนั้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากผลของการกระทำของเราทั้งสิ้น นั่นคือนักศึกษาสามารถจะบอกตนเองได้ว่า อดีตผ่านไปแล้วแก้ไขอะไรไม่ได้ อนาคตเป็นสิ่งที่เรามีทางเลือก ดังนั้น ถ้าเราเลือกที่จะประสบความสำเร็จเราก็จะสำเร็จ แต่ถ้าเราเลือกที่จะเชื่อว่าสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะคนอื่น หรือโชคชะตา เราก็จะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเอง เพราะเรามัวแต่จะรอให้คนอื่นแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง หรือรอโชคชะตา ดังนั้น ประเด็นนี้จึงสำคัญมาก นักศึกษาต้องบอกเสมอว่า อนาคตเราเป็นผู้สร้าง  ผู้กระทำ เราจึงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
3.นักศึกษาจะต้องมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองไปในทางที่ดีขึ้น เพราะถ้าปราศจากซึ่งความปรารถนาทีจะเปลี่ยนแปลง นักศึกษาก็จะขาดแรงจูงใจที่จะกระทำ ดังนั้น นักศึกษาจะต้องบอกตนเองว่า ฉันต้องการพัฒนาตนเอง และฉันจะทำเดี๋ยวนี้ อย่ารอเวลาเพราะถ้ารอเราจะไม่มีโอกาสได้พัฒนาตนเองอีกเลย
สิ่งเริ่มต้นที่จะพัฒนาตนเองนั้นน่าจะเริ่มต้นจากการตระหนักถึงความคิดของตนเอง และจัดการกับความคิดของตนเองเป็นอันดับแรกทั้งนี้ จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า ร้อยละ 75 ของความคิดของคนเราส่วนใหญ่ มักคิดในทางลบ (Helmstetter,1987)   ซึ่งความคิดไม่ว่าทางบวกหรือทางลบก็ตามเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ทั้งสิ้น  เมื่อบุคคลเกิดปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ผลกรรมที่เกิดขึ้นจากการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมนั้นจะเป็นตัวกำหนดความคิดของคนเราต่อสภาพแวดล้อมนั้นๆ ซึ่งถ้าคนเรากระทำพฤติกรรมบางอย่างและได้รับผลกรรมที่ต้องการ เขาก็จะมีความคิดในทางบวกต่อสภาพแวดล้อมนั้น ในทางกับกันถ้าเขาได้รับผลกรรมทางลบเขาก็จะมีความคิดในทางลบต่อสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งถ้าความคิดในทางลบนั้นเกิดขึ้นบ่อยๆ  ก็อาจจะพัฒนาเป็นนิสัยการมองโลกในแง่ร้าย อันจะนำไปสู่การสร้างปัญหาให้กับตัวเองและสังคมรอบข้าง ซึ่งลักษณะเช่นนี้ Helmstetter กล่าวว่า เป็นการวางโปรแกรมให้คนเราเกิดความเชื่อ  และความเชื่อทำให้คนเราสร้างทัศนคติขึ้นมา แล้วทัศนคติจะสร้างให้คนเราเกิดความรู้สึก ความรู้สึกก็จะไปกำหนดการกระทำ และการกระทำก็จะนำไปสู่ผลที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่า สิ่งที่คนเราเชื่อหรือคิดไม่จำเป็นจะต้องเป็นสิ่งที่เป็นจริง ขอให้เราคิดหรือเชื่อว่ามันเป็นจริงมันก็สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งประเด็นนี้จัดได้ว่าเป็นอันตรายมากต่อการใช้ชีวิตของคนเรา เพราะจะนำไปสู่ความเชื่อที่ผิดๆ ดังนั้น นักศึกษาจึงควรที่จะตระหนักถึงความคิดหรือความเชื่อที่ผิดๆ หรือความคิดทางลบของตนเอง และควรจะเปลี่ยนความคิดทางลบเหล่านั้นให้เป็นทางบวก แต่กระบวนการดังกล่าวทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากคนเรามักจะติดกับความเคยชินที่คิดในทางลบ ดังนั้น เทคนิคแรกที่นักศึกษาควรจะฝึกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาตนเองนั้น คือเทคนิคการหยุดความคิด (Thought stopping)  เพื่อหยุดความคิดในทางลบของตนเองเสียก่อน ซึ่งแน่นอน หลักการประการแรกที่สำคัญที่สุดคือ นักศึกษาจะต้องตระหนักตนเองก่อนว่าตนเองกำลังคิดในทางลบอยู่หรือไม่ ถ้าพบว่า ตนเองกำลังคิดในทางลบอยู่ก็ให้ใช้เทคนิคการหยุดความคิด

เทคนิคการหยุดความคิด (Thought stopping)

เทคนิคการหยุดความคิด เป็นเทคนิคที่เหมือนกับการลงโทษ นั้นคือเมื่อคนเรามีความคิดทางลบเกิดขึ้น ก็จะตระโกนในใจตัวเองว่า หยุด ซึ่งการทำเช่นนั้นจะทำให้ความคิดในขณะนั้นหยุดลงและเมื่อความคิดในขณะนั้นหยุดลงแล้วเราก็จะต้องสร้างความคิดใหม่เข้าไปทดแทน หลักการดังกล่าวดูเหมือนว่าจะทำได้ง่าย แต่ขั้นตอนในการดำเนินการนั้นต้องอาศัยความตั้งใจจริงและความอดทนพอสมควร จึงจะสามารถทำให้เราสามารถหยุดความคิดทางลบและพัฒนาความคิดทางบวกขึ้นมาได้ ซึ่งขั้นตอนในการฝึกนั้นทำได้ดังต่อไปนี้
                ขั้นที่ 1 ให้นักศึกษานั่งในท่าที่สบายๆ หลับตาและเริ่มคิดในเรื่องทางลบที่รบกวนนักศึกษาอยู่ในขณะนี้ เช่น ใกล้จะสอบแล้วกลัวว่าจะสอบตกเพราะเรียนไม่รู้เรื่อง หรือชีวิตนี้อยู่ไม่ได้แล้วเพราะฉันเป็นคนไม่ดี คนรักจึงทิ้งไปหาคนอื่น
                ขั้นที่ 2 ขั้นฝึกหยุดความคิด ในขั้นนี้เป็นขั้นที่ต่อจากขั้นที่ 1 ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีเป็นอย่างน้อย ได้แก่ วิธีที่ 1 ตั้งนาฬิกาจับเวลาโดยที่ให้มีเสียงดังของนาฬิกาทุกๆ 3 นาที  เริ่มตั้งเวลาพร้อมกับคิดในทางลบ และเมื่อเสียงนาฬิกาดังขึ้นให้ตระโกนด้วยเสียงอันดังว่า หยุด  การทำเช่นนี้จะทำให้ความคิดในขณะนั้นหยุดชะงักลง ซึ่งนักศึกษาควรจะปล่อยให้ความคิดนั้นหยุดไปประมาณ 30 วินาที ซึ่งถ้าความในทางลบกลับมาเกิดขึ้นก่อนหมดเวลา 30 วินาที ก็ให้ตะโกนช้ำอีกว่า หยุดทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆจนกว่าจะสามารถควบคุมความคิดทางลบให้หยุดได้ ซึ่งการตะโกนนั้นจะเริ่มจากตะโกนเสียงดัง และค่อยๆเบาลง  เบาลง จนกระทั่งตะโกนในใจ  ส่วนวิธีการที่ 2 นักศึกษาอาจไม่ต้องใช้นาฬิกาจับเวลาหากแต่ใช้เทปบันทึก คำว่า หยุดโดยบันทึกเสียงตะโกนว่าหยุดของตัวเองลงในเทปในช่วงเวลาที่ต่างกัน เช่น 3 นาทีบ้าง 2 นาทีบ้าง หรือ 1 นาทีบ้าง สลับกันไปโดยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับ ถ้าให้ดีควรจะใช้หูฟังร่วมด้วย ซึ่งก็ทำเช่นเดียวกับวิธีการที่ 1 คือ ฟังเทปพร้อมทั้งคิดในเรื่องที่เป็นทางลบ ที่รบกวนตนเองอยู่ในขณะนี้ และเมื่อได้ยินเสียงคำว่าหยุดจากเทป ก็ให้ตะโกนว่าหยุดเช่นกัน ซึ่งเสียงตะโกนนี้จะต้องค่อยๆเบาลง เบาลง จนตระโกนในใจ
                ขั้นที่ 3 หลังจากฝึกการควบคุมความคิดโดยการหยุดความคิดตนเองได้แล้วเป็นเวลาช่วงสั้น ๆ คือ 30 วินาที  จากนั้นก็ให้ใส่ความคิดทางบวกเข้าไปทดแทน เช่นกรณีที่กลัวเรื่องการสอบก็ให้บอกตนเองว่ามันน่าตื่นเต้นมากเลยที่เราจะต้องแสดงให้อาจารย์รู้ว่าเราเก่งแค่ไหน หรือถึงเวลาแล้วที่เราจะแสดงความสามารถให้คนอื่นเห็น กรณีที่ถูกคนรักทิ้ง ก็ให้คิดว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกคบคนได้ และเราก็อาจจะได้เจอคนใหม่ที่ดีกว่านี้ก็ได้
                การหยุดความคิดดังที่กล่าวไปแล้วนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก  เพราะเรามักจะเคยชินกับสิ่งที่เราเป็นอยู่  เราจึงจำเป็นที่จะต้องฝึกคิดทางบวกตลอดเวลา  เหตุนี้นักศึกษาจะต้องรู้เท่าทันความคิดทางลบของตน และทันทีที่ความคิดทางลบเกิดขึ้นก็ให้ ตะโกนในใจตนเองว่า หยุด ทันที แต่บางครั้งการตะโกนว่าหยุดในใจอาจทำได้ยากถ้าเรายังฝึกไม่เพียงพอ อีกทั้ง ถ้าตะโกนเสียงดังออกมาเมื่ออยู่กับคนอื่นก็อาจทำให้คนอื่นตกใจได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงอยากจะเสนอแนะแนวทางง่ายๆ ที่นักศึกษาสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องทำให้คนอื่นตกใจ กับการฝึกหยุความคิดของตนเอง  โดยที่นักศึกษาใช้ยางรัดไว้ที่ข้อมือ และทันทีที่ความคิดในทางลบเกิดขึ้น ก็ให้ดีดยางที่ข้อมือนั้น ความคิดทางลบจะหยุดทันที และทันทีที่ความคิดทางลบหยุดก็ให้ใส่ความคิดทางบวกเข้าไปแทน ฝึกเช่นนี้ไปเรื่อยๆนักศึกษาก็จะสามารถควบคุมความคิดทางลบของตนเองได้และจะคิดทางบวกขึ้นมาแทน ซึ่งจะทำให้มีผลต่อสุขภาพจิตและการแสดงออกของนักศึกษา อันจะทำให้นักศึกษามีความสุขกับการที่ได้คิดในทางบวกกับคนที่อยู่รอบข้าง และสภาพแวดล้อมที่ตนเองอยู่

การคิดในทางบวก (Positive thinking) หรือ การพูดกับตัวเองในทางบวก (Positive self-talk)
หลังจากที่นักศึกษาได้ฝึกหยุดความคิดของตนเองแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรฝึกคือ การคิดในทางบวก หรือการพูดกับตนเองในทางบวก เพราะดังที่กล่าวไว้ข้างตนแล้วว่าการกระทำของคน เรานั้นเป็นผลพวงจากความคิดและความเชื่อของตนเอง นักศึกษาต้องมีความเชื่อก่อนว่า เราสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ ซึ่งการที่จะกำหนดอนาคตของตนเองได้นั้น เราต้องแน่ใจก่อนว่าเราสามารถกำหนดความคิดของตนเองได้ ซึ่งถ้าเราคิดว่าทำไม่ได้เราก็จะทำไม่ได้ ถ้าเราเชื่อหรือคิดว่าทำได้เราจะประสบผลสำเร็จอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ และอีก 50 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่การกระทำของตัวเราเอง นักจิตวิทยามีความเชื่อว่าสิ่งที่จะทำร้ายคนเราได้มากที่สุดคือความคิดทางลบของคนเรานั่นเอง และทางการแพทย์ก็เชื่ออีกด้วยว่าร้อยละ  75 ของความเจ็บป่วยของคนเราเป็นผลมาจากความคิดทางลบของคนเรานั่นเอง ดังนั้น นักศึกษาต้องเริ่มที่จะเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อของตนเองจากทางลบให้เป็นทางบวก โดยการพยายามสังเกตตนเองว่า ตนเองมีความคิดหรือการพูดถึงตนเองในทางลบอย่างไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนการฝึกมีดังต่อไปนี้

           ขั้นที่ 1 นักศึกษาต้องรู้และยอมรับในความคิดทางลบของตนว่ามันเกิดขึ้น โดยการสังเกตตนเองว่าเรามักใช้คำเหล่านี้กับตนเองหรือไม่ เช่น การบอกตนเองว่า ฉันไม่มีความสามารถ” “ฉันไม่ดี” “ฉันไม่เก่ง” “ฉันเป็นคนที่ล้มเหลว  การยอมรับความคิดทางลบของตนเองถ้าเป็นไปได้ ควรจะทำให้ชัดเจนโดยการบันทึกความคิดทางลบเหล่านั้นไว้
          ขั้นที่ 2 เมื่อรู้ถึงความคิดทางลบของตนเองแล้ว นักศึกษาต้องมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องคิดเสมอว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดทางลบให้เป็นบวกนั้น เป็นผลดีในระยะยาวต่อตนเอง
         ขั้นที่ 3 เมื่อมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วนำไปสู่การตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งในการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยกำลังใจอะไรมากมายนัก  เพียงแต่ต้องทำการฝึกฝน และบอกตนเองอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดทางลบไปสู่ความคิดทางบวกจะนำตนเองไปสู่ชีวิตที่ดีได้ และไม่มีใครที่จะช่วยฉันได้นอกจากตัวของฉันเอง
         ขั้นที่4  ขั้นดำเนินการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในขั้นนี้อาจต้องใช้ เทคนิคการหยุดความคิดมาร่วมด้วย เนื่องจากเป็นการยากมากที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดทางลบเก่าๆ ของตนได้อย่างทันทีทันใด ดังนั้น จึงต้องหยุดความคิดทางลบของตนเองก่อนแล้วจึงค่อยใส่ความคิดทางบวกลงไป
        ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล  หลังจากที่ได้ฝึกเปลี่ยนแปลงความคิดทางลบให้เป็นความคิดทางบวกแล้ว ส่งผลต่อสุขภาพจิตและการกระทำของตนเองอย่างไรบ้าง อีกทั้งความสัมพันธ์ต่อบุคคลรอบข้างเป็นอย่างไร  ซึ่งแน่นอนมันจะส่งผลที่ดีขึ้น

เทคนิคการสื่อสาร
เทคนิคการสื่อสารมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบแต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการสื่อสารที่เป็นคำพูดเท่านั้นการสื่อสารที่ดีหรือการพูดดีจะนำไปสู่การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ซึ่งการฝึกการสื่อสารที่ดีนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก นักศึกษาจะต้องเรียนรู้ถึงกระบวนการการสื่อสารที่ดี ซึ่งการสื่อสารในที่นี้หมายถึงกระบวนการที่มีผู้ส่งข่าวสารไปให้กับผู้รับเพื่อให้มีความเข้าใจร่วมกัน ซึ่งถ้าทั้งผู้ส่งและผู้รับยังไม่มีความเข้าใจร่วมกันถือว่ายังไม่มีการสื่อสาร (Lussier,1993) เป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมากที่เรามักพบว่าการสื่อสารนั้น ส่วนใหญ่เรามักใช้คำพูด และเป็นที่น่าสนใจมากไปนั้นอีกว่า สิ่งที่เราได้ยินจากคำพูดนั้นร้อยละ 75 ของสิ่งที่ได้ยินจะได้ยินไม่ชัดเจน และร้อยละ 75 ของสิ่งที่เราได้ยินชัดเจนเราจะลืมไปภายใน 3 สัปดาห์ (Maidment,1985) ถ้าสิ่งที่ Maidment กล่าวไว้เป็นจริงแสดงว่าคนเรานั้นมีปัญหาในการสื่อสารอย่างแน่นอน และปัญหาที่เราพบในสังคมส่วนใหญ่ ถ้าเราพิจารณาให้ดีมักเกิดจากการสิ่งสารที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นเอง ซึ่ง Hansen (1985) ได้กล่าวว่าเหตุที่การสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพนั้นเป็นเพราะว่าบุคคลไม่มีความสามารถหรือไม่มีความปรารถนาที่จะสื่อสารนั่นเอง

การสื่อสารมีเป้าหมายอยู่ด้วยกัน 3 ประการ คือ ประการแรก เพื่อที่จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อความคิดหรือการกระทำของผู้อื่น ประการที่ 2 เพื่อเป็นการให้ข้อมูล และประการสุดท้ายเพื่อแสดงความรู้สึกที่ตนเองมี  การสื่อสารเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการที่จะสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่น แน่นอนการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับวิธีการสื่อสารที่ใช้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า การสื่อสารนั้นจะต้องมี 3 องค์ประกอบหลักด้วยกันคือ
1.    ผู้ส่ง หรือผู้เริ่มการสื่อสาร โดยการให้ข้อมูลข่าวสารในรูปแบบที่ผู้รับสามารถจะเข้าใจได้
2.    ข้อมูลข่าวสารสามารถถ่ายทอดได้ 3 วิธีการ การเขียน การพูด และการแสดงออกทางท่าทาง ซึ่งการเสนอข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นอยู่กับสภาพการณ์และผู้รับด้วย
3.     ผู้รับ คือผู้ที่รับข้อมูลแล้วแปลงข้อมูลข่าวสารให้อยู่ในรูปที่มีความหมายจึงต้องมีการตีความ เช่น อาจารย์คือผู้ส่งข่าวสาร การบรรยายของอาจารย์ถือเป็นสารที่ส่งต่อไปยังนักศึกษาคือผู้รับสารซึ่งต้องตีความการบรรยายของอาจารย์และจดตามความเข้าใจของนักศึกษาเอง

ดังที่กล่าวแล้วว่าการสื่อสารนั้นทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องมีความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งการสื่อสารมีด้วยกัน 2 วิธี คือการสื่อสารทางเดียว นั่นคือ เมื่อผู้ส่งข่าวสารส่งให้ผู้รับแล้วก็จะคิดว่าผู้รับเข้าใจก็ถือว่าเกิดความเข้าใจร่วมกันแล้ว ซึ่งการสื่อสารทางเดียวมีโอกาสผิดพลาดได้เนื่องจากเป็นการส่งทางเดียวโดยไม่มีการตรวจสอบว่าเข้าใจตรงกันหรือไม่

การสื่อสารแบบสองทาง เป็นการที่ผู้ส่งข่าวสารเมื่อส่งข่าวสารแล้วจะต้องตรวจสอบดูว่าผู้รับเข้าใจความหมายถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน การตรวจสอบนั้นอาจทำได้สองทางคือ การใช้เทคนิคการตั้งคำถาม โดยถามว่าผู้รับข่าวสารมีความเข้าใจต่อข่าวสารที่กล่าวถึงหรือไม่ คำตอบที่ได้จะทำให้เราประเมินได้ว่าผู้รับข่าวสารเข้าใจหรือไม่ มากน้อยเพียงใด   ส่วนวิธีการที่ 2 คือการให้ผู้รับข่าวสารทวนประโยคที่ได้ยิน โดยการใช้คำพูดของเขาเอง นอกจากนี้ ผู้ส่งสารอาจตรวจสอบได้อีกว่าผู้รับสารเข้าใจหรือไม่ โดยให้ผู้รับสารเสนอแนะความคิดเห็นประเด็นต่างๆ จากเรื่องที่สื่อสารกันอยู่

ขั้นตอนในกระบวนการสื่อสาร กระบวนการสื่อสารนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นคือ
1.    การเลือกสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร
2.    การส่งข่าวสาร

3.    การรับข้อมูลข่าวสาร
4.    การสนองตอบต่อข้อมูลข่าวสาร

การเลือกสื่อที่ใช้ในการสื่อสาร นักศึกษาต้องรู้ว่าสื่อที่ใช้มีอะไรบ้าง ซึ่งสื่อที่ใช้นั้นแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. สื่อสารโดยการเขียน ซึ่งสามารถดำเนินการโดยการส่งใบบันทึก จดหมาย การเขียนรายงาน การใช้คอมพิวเตอร์ หรือการใช้แฟกซ์
2. สื่อสารโดยใช้คำพูด ซึ่งทำได้โดยการพูดต่อหน้า โทรศัพท์ พูดในที่ประชุม และการพูดในการเสนอผลงาน
3. การใช้ภาษาท่าทาง ซึ่งทำได้โดยการแสดงออกทางสีหน้า ใช้นำเสียง ซึ่ง น้ำเสียงต้องมีลักษณะความเป็นมิตร อบอุ่น เสียงดัง เสียงเบา เสียงสูงต่ำ  และท่าทางที่แสดงออก
ในการเลือกสื่อว่าจะใช้การเขียน คำพูด หรือท่าทาง ขึ้นอยู่กับชนิดของข่าวสาร ผู้รับ และสภาพการณ์ ตลอดจนเนื้อหาที่สื่อสาร

การส่งข่าวสาร ในการส่งข่าวสาร ผู้ส่งต้องมีการวางแผนเป็นอย่างดี ซึ่งผู้ส่งมีวิธีการส่ง ดังนี้
1. ต้องถามว่าอะไรคือเป้าหมายของการส่งข่างสาร หรือเป้าหมายของการส่งข่างสารคือ 
    อะไร เช่น เพื่อการให้ข้อมูล หรือเพื่อเกิดความรู้สึก ฯลฯ
2. ต้องรู้ว่าใครเป็นผู้รับข้อมูลข่าวสารนั้น เช่น อาจารย์  เพื่อน หรือเด็ก
3. จะส่งข่าวสารอย่างไร เพื่อให้ผู้รับข่าวสารเข้าใจ อาจใช้ภาษาคำพูดหรือข้อเขียน ฯลฯ
4. เมื่อไรจะส่งข่างสารดี ตอนเช้า เย็น หรือเวลาทานอาหาร หรือเวลาว่าง ขึ้นอยู่กับลักษณะ
    ข่าวสาร และผู้รับ
5.จะส่งข่าวสารไปที่ไหน ที่ทำงาน ที่บ้าน หรือที่ร้านอาหาร บางครั้งการส่งข่าวสารผิดที่ 
     อาจก่อให้เกิดปัญหาได้

เมื่อมีการดำเนินการส่งข่าวสาร ผู้ส่งจะต้องมีตรวจสอบว่าผู้รับข่าวสารมีความเข้าใจที่ตรงกันกับสิ่งที่ผู้ส่งข่าวสารต้องการจะสื่อสารหรือไม่


การรับข้อมูลข่าวสาร การรับข้อมูลข่าวสารมีอยู่ด้วยกันสองมิติ คือการได้ยินหรือฟัง กับการอ่านกรณีที่ข้อมูลเป็นข้อเขียน การอ่านมักไม่เป็นปัญหามากนั้นแต่ปัญหาอยู่ที่การตีความ เนื่องจากข้อเขียนที่ปรากฏไม่หายไปไหน สามารถอ่านทบทวนได้ ทำให้เข้าใจได้ง่าย มักใช้ในการส่งข่าวสารที่เป็นทางการ แต่การฟังกลับมีปัญหามากกว่า ทั้งนี้เนื่องจากผู้รับข่าวสารมีการฟัง 3 ระดับ คือ
ระดับได้ยินแต่ไม่ฟัง ระดับนี้เป็นแบบข้อมูลผ่านหูซ้ายออกหูขวา  ระดับได้ยินแต่ไม่ฟัง ผู้ฟังจะไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารและไม่มีการสนองตอบใดๆ ทั้งสิ้นต่อข่าวสารนั้น
ระดับฟังพร้อมทั้งประเมินสิ่งที่ตนได้ยินไปพร้อมกัน ถ้าสิ่งที่ได้ยินทำให้เกิดความไม่พอใจก็จะมีการสนองตอบทันทีโดยไม่ยอมให้ผู้พูดพูดให้จบ ซึ่งกาฟังในระดับนี้มักสร้างปัญหาในการสื่อสาร เนื่องจากผู้ฟังต้องการได้ยินเฉพาะในสิ่งที่ตนเองต้องการจะได้ยินเท่านั้น
ระดับการฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ เป็นระดับการฟังที่ดีที่สุดของการสื่อสาร ผู้ฟังพยายามที่จะเข้าใจในสิ่งที่ผู้พูดต้องการสื่อสาร

การสนองตอบข้อมูลข่าวสาร ผู้ส่งข่าวสารจะมีปัญหาอย่างมากจากการสนองตอบต่อข้อมูลที่เป็นภาษาเขียน เนื่องจากไม่สามารถประเมินผลของการรับข้อมูลข่าวสารได้ทันที แต่ในกรณีที่ผู้ส่งข่าวสารโดยคำพูด ซึ่งการส่งข่าวสารแบบนี่เป็นการส่งข่าวสารที่เผชิญหน้ากัน ผู้ส่งก็สามารถดูการสนองตอบของผ้รับข่าวสารได้โดยดูที่การแสดงออกทางท่าทางของผู้รับข่าวสารว่า มีลักษณะแสดงออกอย่างไรต่อข้อมูลข่าวสารนั้น เช่นสีหน้า แววตาหรือ การพยักหน้าเป็นต้น นอกจากสังเกตภาษาท่าทางแล้ว อาจใช้การถามคำถามในประเด็นที่สื่อสาร หรือไม่ก็อาจขอข้อมูลโดยให้ผู้รับข่าวสารทบทวนประโยคที่เขาได้ยินโดยใช้รูปแบบภาษาของตัวเขาเองเป็นต้น

อุปสรรคที่ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสาร

ผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสารต้องตระหนักถึงประเด็นที่อาจทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารได้ถ้าไม่ระมัดระวังให้ดี ประเด็นเหล่านั้นได้แก่ 
 1. การรับรู้ของผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสาร ซึ่งการรับรู้ หมายถึงการตีความสิ่งที่สื่อสาร ซึ่งการตีความขึ้นอยู่กับประสบการณ์การเรียนรู้ และทัศนคติของทั้งผู้ส่งและผู้รับ ถ้าผู้ส่งคิดว่าผู้รับเป็นคนที่ไม่ดี ลักษณะการสื่อสารก็จะมีความรุนแรง หรือไม่ถ้าผู้รับคิดว่าผู้ส่งต้องการเอาเปรียบตนก็จะสนองตอบทางลบเช่นกัน
2. การรบกวนของเสียงต่าง ๆระหว่างการสื่อสาร เสียงที่รบกวนจะทำให้เกิดการได้ยินที่ไม่ชัดเจนอาจเกิดการตีความผิดได้
3. อารมณ์ของผู้รับข่าวสารหรือผู้ส่งข่าวสาร ถ้าอารมณ์ไม่ดีทำให้การส่งข่าวสารไม่ตรงไปตรงมา เช่นกันถ้าผู้รับมีอารมณ์ไม่ดีทำให้อาจทำให้ตีความข่าวสารผิดได้
4. การบิดเบือนข้อมูล บางครั้งผู้ส่งสารต้องการที่จะให้ข่าวสารดูดีจึงบิดเบือนข้อมูลให้ดูดีขึ้น เช่นเดียวกันผู้รับก็อาจบิดเบือนข้อมูลเพื่อให้ตัวเองไม่ต้องรับรู้ในสิ่งที่ไม่ต้องการรับรู้ได้
5. ความไว้วางใจ และความน่าเชื่อถือของผู้ส่งข่าวสาร ถ้าผู้รับไว้ใจผู้ส่งก็ทำให้เกิดความเชื่อถือในข้อมูลนั้น
6. การให้ข้อมูลที่มากเกินไป บางครั้งการให้ข้อมูลที่มากไปก็อาจทำให้เกิดการหลงประเด็น และไม่สามารถจับประเด็นได้ และบางประเด็นก็อาจนำไปสู่การรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงได้
7. การไม่ฟัง แม้ผู้ส่งข่าวสารส่งถูกต้อง แต่ถ้าผู้รับข่าวสารไม่ฟัง ก็ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารได้
8. การสื่อสารที่ผิดเวลาและสถานที่ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดได้ง่ายและเกิดการไม่ฟังเช่นกัน
9. สื่อที่ใช้ไม่เหมาะกับผู้ส่งข่าวสารและผู้รับข่าวสาร

เทคนิคในการฟัง

ในการสื่อสารนั้นนอกจากผู้ส่งข่าวสารจะมีความสำคัญแล้วผู้รับข่าวสารก็มีความสำคัญเช่นกัน ความสามารถในการรับข้อมูลข่าวสารที่สำคัญประการหนึ่งคือการฟัง การฟังดูเหมือนกับเป็นทักษะทั่วๆไปที่ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ความจริงแล้วการฟังเป็นทักษะที่สำคัญและควรจะมีการฝึก เนื่องจากการฟังให้เข้าใจมิใช่ทำกันง่ายๆ จำเป็นที่จะต้องมีการฝึกเป็นอย่างดี ดังนั้นการฝึกที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี ควรจะฝึกในประเด็นต่อไปนี้
1.ควรให้ความสนใจว่าผู้ส่งข่าวสารกำลังจะบอกอะไร หรือกำลังจะสื่ออะไรมาให้เรา โดยเน้นประเด็นหลักที่ผู้ส่งข่าวสารต้องการจะสื่อ ไม่ใช่ส่วนประกอบ หรือประเด็นย่อย
                2.แสดงให้ผู้ส่งข่าวสารรู้ว่าเขาพูดอะไรไป ซึ่งอาจทำได้โดยการทวนประโยคคำพูดที่ผู้ส่งข่าวสารได้ส่งมา โดยใช้คำพูดของเราเอง ทั้งนี้ต้องไม่มีการตีความใดๆ ทั้งสิ้น
                3.ในกรณีที่ไม่แน่ใจในประเด็นที่ผู้ส่งข่าวสารพยายามบอก ให้ถามคำถามเพื่อให้ผู้ส่งข่าวสารได้ชี้แจงประเด็นให้ชัดเจนขึ้น และเข้าใจได้ตรงกัน
                4.ผู้ฟังที่ดีต้องให้ความใส่ใจต่อภาษาท่าทาง ที่ผู้ส่งข่าวสารแสดงออกทั้งนี้ ต้องดูด้วยว่าคำพูดหรือสิ่งที่ผู้ส่งข่าวสารต้องการสื่อนั้นสอดคล้องกันหรือไม่ ในกรณีที่คำพูดและท่าทางไม่สอดคล้องกันผู้ฟังต้องจับภาษาท่าทางเป็นหลักเพื่อที่จะเข้าใจ
                5.ผู้ฟังที่ดีต้องไม่พูดจาสอดแทรกในขณะที่ผู้ส่งข่าวสารยังพูดไม่จบ อีกทั้งหลีกเลี่ยงการให้ข้อเสนอแนะต่อสิ่งที่ผู้ส่งข่าวสารต้องการจะสื่อสาร นอกเสียจากว่าผู้ส่งข่าวสารจะขอร้องให้เสนอแนะในบางประเด็น
                6.ผู้ฟังที่ดีต้องรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง ขณะที่ฟังผู้ส่งข่าวสารสื่อสารเข้ามา ทั้งนี้เพื่อจะสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ไม่ให้สนองตอบในลักษณะที่รุนแรง ในกรณีที่ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ได้ยินหรือข่าวสารที่ส่งมา
                7.ถ้าเป็นไปได้ผู้ฟังควรกระตุ้นให้ผู้ส่งข่าวสารได้แสดงออกมากขึ้น กรณีที่ผู้ส่งข่าวสารไม่แน่ใจในการสื่อสาร

การฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก (Assertive Training)             
ในการทำดีนั้นนักศึกษาควรจะได้รับการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรืออีกนัยหนึ่งคือการฝึกทักษะทางสังคม (Social Skills Training)คำถามในเชิงวิชาการคือพฤติกรรมการกล้าแสดงออกกับพฤติกรรมทักษะทางสังคมแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร จากจุดเริ่มต้น พฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นมาจากแนวคิดของจิตแพทย์ ชื่อ Wolpe ที่ให้ความหมายของพฤติกรรมการกล้าแสดงออกว่า เป็นการแสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทั้งนี้ต้องแสดงออกโดยไม่รู้สึกกังวลหรือกลัว ดังนั้น พฤติกรรมการกล้าแสดงออกจะเกี่ยวพันกับความวิตกกังวลหรือความกลัว แต่ทว่าพฤติกรรมการแสดงออกทางสังคมที่เหมาะสมนั้น มีลักษณะของการแสดงออกคล้ายกับพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หากแต่ไม่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหรือความกลัวที่แสดงออก ทั้งนี้จะใช้ในกรณีที่บุคคลนั้นขาดทักษะทางสังคมที่เหมาะสมเท่านั้นเอง แต่ปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่า นักจิตวิทยาจำนวนมากที่เขียนเกี่ยวกับพฤติกรรมการกล้าแสดง ออกและพฤติกรรมทักษะทางสังคม มักใช้คำนี้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่แยกแยะว่าบุคคลนี้จะมีความกลัวหรือความวิตกกังวลหรือไม่

ในข้อเขียนนี้ผู้เขียนจะใช้พฤติกรรมการกล้าแสดงออกโดยครอบคลุมพฤติกรรมการแสดงออกทางสังคมที่เหมาะสมไว้ด้วย และจะให้ความหมายว่า หมายถึงการสื่อสารความคิดและความรู้สึกอย่างจริงใจและเหมาะสม (Johnson, 2004) ซึ่งการแสดงออกอย่างกล้าแสดงออกนั้นสามารถแสดงออกได้ทั้งคำพูดและท่าทาง ซึ่ง Johnson (2004) ได้กล่าวว่าเมื่อคนเรากล้าแสดงออกเราจะเกิดรู้สึกที่ดีกับตัวเราเอง มั่นใจในตนเองมากขึ้น ได้สิ่งที่ต้องการในชีวิตมากขึ้น และบุคคลที่เกี่ยวข้องจะให้เกียรติมากขึ้น แต่การที่คนเราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่พฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้น จะต้องตระหนักไว้เสมอว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะทำให้คนใกล้ชิดหรือคนที่เกี่ยวข้อง  แสดงพฤติกรรมโต้ตอบในทางลบต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ เนื่องจากว่าถ้าเราไม่เคยมีพฤติกรรมการกล้าแสดงออกแล้วไปแสดงออกเลย การเปลี่ยนแปลงนั้นยากที่ผู้ใกล้ชิดหรือคนที่เกี่ยวข้องจะยอมรับได้ เนื่องจากพวกเขาจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เราเคยเป็น ได้รับในสิ่งที่เขาต้องการ  ทำให้พวกเขาเกิดความกลัวว่าจะสูญเสียเราไปจากการทำกระนั้น ซึ่งเราไม่ควรจะย่อท้อหรือเปลี่ยนใจที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เนื่องจากเราอาจจะไม่สามารถที่จะไม่ใส่ใจคนที่เรารัก หรือคนที่สำคัญในชีวิตของเราได้ ดังนั้นในการที่จะพัฒนาให้ตนเองมีพฤติกรรมการกล้าแสดงออกควรดำเนินไปที่ละน้อยๆ โดยเน้นไปในทางบวก และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำไดวิธีการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก

ในการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นขั้นแรกนักศึกษาจะต้องแยกแยะให้ได้ระหว่าง พฤติกรรมการยอมจำนน (Passive Behavior) พฤติกรรมก้าวร้าว (Aggressive Behavior)
และพฤติกรรมการกล้าแสดงออก (Assertive Behavior)

พฤติกรรมการยอมจำนน  เป็นการแสดงออกที่ไม่บอกถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนเองอย่างตรงไปตรงมา อีกทั้งยอมให้บุคคลอื่นละเมิดสิทธิแห่งตน บุคคลที่มีพฤติกรรมยอมจำนน จะเป็นคนที่รู้สึกว่า ตนเองไร้ค่า ถูกเอาเปรียบ

พฤติกรรมก้าวร้าว เป็นการแสดงออก ถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนเอง
โดยไม่สนใจว่าจะไปละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นหรือไม่ ขอให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการก็พอ คนที่แสดง
ออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าวมักจะได้รับการเสริมแรงจากการกระทำของตนเอง เพราะทำแล้วได้ในสิ่งที่ตนเองต้องการเนื่องจากผู้ที่เกียวข้องมักจะไม่อยากตอแยด้วย แต่จุดอ่อนคือ จะไม่มีมิตรแท้ เพราะไม่มีใครอยากจะคบด้วย ทุกคนอยากจะหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง

พฤติกรรมการกล้าแสดงออก เป็นการแสดงออก ถึงความคิด ความรู้สึก และความต้องการ ของตนเองด้วยวิธีการที่เหมาะสม โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ผู้ที่กล้าแสดงออกจะได้รับการยอมรับและให้เกียรติ จากบุคคลรอบข้าง

 หลังจากที่แยกแยะได้ว่าพฤติกรรมใด เป็นพฤติกรรมยอมจำนน พฤติกรรมก้าวร้าว และพฤติกรรมการกล้าแสดงออก แล้ว ในขั้นต่อไป นักศึกษาจะต้องทำให้ตัวเองรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีสิทธิ ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคมนี้ สมควรได้รับการยอมรับและให้เกียรติ ซึ่งอาจทำได้โดยการใช้การพูดทางบวกกับตนเอง หรือคิดทางบวกกับตนเอง ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในตอนแรกจำไว้เสมอว่าคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า จะเป็นคนที่ไม่กล้าที่จะแสดงออก   เมื่อสามารถพูดกับตนเองในทางบวกได้แล้ว และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น ลำดับต่อมานักศึกษาจะต้องยอมรับ สิทธิแห่งตนในการกล้าแสดงออก (Bill of Assertive Right) ซึ่งสิทธิแห่งตนในการกล้าแสดงออกมีดังต่อไปนี้
1.              คุณมีสิทธิที่จะตัดสินพฤติกรรม ความคิด และอารมณ์ ของคุณเอง และรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น
2.              คุณมีสิทธิที่จะไม่ต้องให้เหตุผล หรือขอโทษ เพื่อที่จะทำให้การกระทำของคุณดูถูกต้องมากขึ้น
3.              คุณมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะช่วยบุคคลที่มีปัญหาหรือไม่
4.              คุณมีสิทธิที่จะเปลี่ยนใจและทำในสิ่งทีผิดพลาดได้
5.              คุณมีสิทธิที่จะไม่รู้ หรือไม่เข้าใจในบางสิ่งบางอย่างได้
6.              คุณมีสิทธิที่จะมีคนไม่ชอบคุณได้
7.              คุณมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นของคุณได้
8.              คุณมีสิทธิที่จะแสดงความพอใจ และขอบคุณผู้อื่นได้
9.              คุณมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลอย่างยุติธรรม
10.       คุณมีสิทธิที่จะแสดงความรักและความพอใจผู้อื่นได้
จากสิทธิทั้ง 10ข้อนั้นนักศึกษาจะต้องอ่านให้เข้าใจและยอมรับเสียก่อนจึงจะค่อยเริ่มฝึกการแสดง
ออกซึ่งพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้น จะต้องฝึกในสองลักษณะ นั่นคือ จะต้องฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกในลักษณะพฤติกรรมทั่วไปที่ทุกคนควรจะต้องฝึก กับพฤติกรรมเฉพาะอย่างที่ต้องฝึกเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะอย่างในขณะนั้น เช่น มีพฤติกรรมขี้อาย ไม่กล้าที่จะพูดกับเพศตรงข้าม
เป็นต้น พฤติกรรมทั่วไปที่ทุกคนต้องฝึกนั้นได้แก่

ทักษะทั่วไป

1.              การมองตา ถือเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนควรจะต้องมี เพราะเป็นการแสดงออกที่มีความสำคัญต่อการสื่อสาร
2.              น้ำเสียง ในการใช้ภาษาคำพูดในการสื่อสารนั้น น้ำเสียงมีความสำคัญอย่างมาก มากกว่าเนื้อหาที่ทำการสื่อสาร บางครั้งเนื้อหาของคำพูดอาจดูรุนแรง แต่ถ้าน้ำเสียงมีลักษณะนุ่มนวลปนอยู่ ความรุนแรงของเนื้อหาจะลดลงทันที ในทางกลับกันบางครั้งเนื้อของคำพูดไม่มีอะไร แต่น้ำเสียงดูดุดัน ก็ทำให้การรับรู้ของคำพูดนั้นดูรุนแรงไปด้วย น้ำเสียงที่ดีควรจะมีความอบอุ่น จริงใจ ไม่ดังหรือค่อยจนเกินไป 
3.              การวางท่าทาง ท่าทางในขณะที่สื่อสาร มีผลต่อการสื่อสารเช่นกัน ซึ่งทุคนควรจะได้รับการฝึกให้ยืนหรือนั่งในลักษณะที่มั่นคง ถ้าจะมีการเอนตัว ก็ควรจะให้มีการโน้มตัวไปข้างหน้าเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้คู่สนทนารู้สึกว่าตนเองถูกคุกคาม
4.              การแสดงออกทางสีหน้า สีหน้าทีแสดงออกนั้นควรจะสอดคล้องกับอารมณ์ ของผู้ที่แสดงออก ไม่ควรแสแสร้งใดๆ
5.              เวลาในการแสดงออก บางครั้งเราพบว่า เราอาจจะแสดงออกได้อย่างเหมาะสม และตรงประเด็น แต่ทว่าแสดงออกไม่เหมาะสมกับเวลา ผลที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นในทางลบได้ เช่นการที่ไปขออาจารย์ดูกระดาษคำตอบในการทำสอบ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าทำผิดพลาดในประเด็นใดจึงได้คะแนนน้อย แต่ทว่าไปขอในขณะที่อาจารย์ท่านนั้นกำลังอยู่กับหัวหน้าฝ่าย อันอาจจะนำมาซึ่งความไม่พอใจของอาจารย์ท่านนั้นได้ ดังนั้นแทนที่จะได้รับผลทางบวก อาจได้รับผลทางลบแทน
6.              เนื้อหาที่ใช้ในการแสดงออก เนื้อที่ใช้ต้องชัดเจน ตรงประเด็น ดังนั้นก่อนที่จะมีการแสดงออก ผู้แสดงออกจะต้องรู้ก่อนว่าตนเองต้องการอะไร ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดได้
7.              การใช้ประโยค ฉันนั่นคือไม่ว่าปัญหาอะไรเกิดขึ้น จะต้องใช้รูปประโยคว่า ฉันคิด หรือรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น ห้ามใช้ประโยค คุณอย่างเด็ดขาด เช่น บอกว่า ฉันรู้สึกแย่มากที่คุณมาสาย แทนการพูดว่า คุณแย่มากที่มาสาย ฉันไม่ชอบเลย  ประโยคหลังนี้เป็นการกล่าวว่าบุคคลที่มาสาย ขณะที่ประโยคแรกจะบอกถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นและความรู้สึกขอผู้พูดโดยไม่มีการว่ากล่าวใดๆทั้งสิ้น จะทำให้ความรู้สึกของผู้ฟังไม่รู้สึกว่าตนเองถูกต่อว่าทำให้การต่อต้านลดน้อยลง

ทักษะเฉพาะอย่าง

ในกรณีทักษะเฉพาะอย่างนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าควรจะฝึกอะไรเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาเฉพาะอย่างที่บุคคลนั้นเผชิญอยู่ เช่น ไม่กล้าบอกถึงความต้องการของตนกับผู้ปกครอง ไม่กล้าทักทายเพศตรงข้าม ขี้อาย ไม่กล้าปฏิเสธการร้องขอของผู้อื่น ไม่กล้าที่จะแสดงความรู้สึกที่แท้จริงของตนได้ ไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้อื่น หรือไม่กล้าที่จะพูดเกี่ยวกับตัวเอง เป็นต้น  ซึ่งแต่ละปัญหานั้นจะต้องมีการมีการวางแผนการฝึกเฉพาะอย่าง

วิธีการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรือ การฝึกทักษะทางสังคมที่เหมาะสม

วิธีการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก หรือการฝึกทักษะทางสังคมที่เหมาะสมนั้น อาจทำได้ โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้
1.              ใช้การชักซ้อมพฤติกรรม หรือการเล่นบทบาทสมมุติ โดยบทบาทสมมุติที่ให้ผู้เข้ารับการฝึก
       ชักซ้อมนั้นผู้เข้ารับการฝึกจะต้องฝึกแสดงออกให้เป็นธรรมชาติและไม่มีความวิตกกังวลที่จะ 
       แสดงออก ถ้าจะให้ดีควรจะฝึกต่อหน้ากระจก และมีอาจารย์แนะแนวเป็นผู้สังเกต ให้ข้อมูล 
       ชี้แนะแก้ไข
2.              การให้ข้อมูลป้อนกลับ บางครั้งผู้ฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออก ไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมที่ตนเองแสดงออกนั้นเหมาะสมแล้วหรือยัง  จำเป็นจะต้องมีผู้รู้ ซึ่งอาจเป็นนักจิตวิทยา หรืออาจารย์แนะแนว คอยสังเกตและให้ข้อมูลป้อนกลับ ว่าพฤติกรรมดังกล่าวแสดงออกได้เหมาะสมแล้วหรือยัง ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในด้านใดบ้าง อันจะทำให้การฝึกนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3.              การใช้ตัวแบบ ในการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้น การเสนอตัวแบบให้ดูจะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกนั้นเห็นขั้นตอนและการแสดงออกได้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้ง่ายขึ้น เมื่อผู้เข้ารับการฝึกสังเกตตัวแบบแล้วก็จะแสดงออกตามตัวแบบนั้น การให้ข้อมูลป้อนกลับก็จะนำมาใช้หลังจากผู้เข้ารับการฝึกนั้นแสดงออกตามตัวแบบแล้ว
4.              การใช้การจิตนาการ การใช้การจินตนาการนั้นทำได้โดยให้ผู้เข้ารับการฝึกจิตนาการว่าตนเองกำลังแสดงพฤติกรรมการกล้าแสดงออกในสถานการณ์ที่ตนเองมีปัญหาในการแสดงออก แต่ถ้ายังไม่สามารถจินตนาการถึงการแสดงออกของตนได้ ก็อาจจะเริ่มจากการจินตนาการถึงบุคคลอื่นที่แสดงพฤติกรรมการกล้าแสดงออกในสภาพการณ์ที่ตนเองไม่กล้าแสดงออก จินตนาการไปเช่นนี้จนกระทั่งเกิดความเคยชิน จากนั้นจึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นการจิตนาการถึงตนเองแสดงพฤติกรรมเช่นเดียวกับตัวแบบในจินตนาการแทน ให้จิตนาการเช่นนี้ทุกๆวันอย่างน้อยวันละครั้งจนเกิดความรู้สึกเคยชิน จากนั้นก็ให้ผู้เข้ารับการฝึกนั้นลองแสดงออกให้ดูจริงๆถ้าแสดงออกได้เหมาะสม ถือว่าสิ้นสุดการฝึกได้
5.              การใช้การเสริมแรงทางบวก ในการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้น การให้การเสริมแรงทางบวกมีความสำคัญอย่างมากต่อการจูงใจให้ผู้เข้ารับการฝึกนั้น มีกำลังใจที่จะฝึกต่อไป ดังนั้นผู้ฝึกจะต้องใช้การเสริมแรงทางบวกใหัเป็นโดยอย่างน้อยที่สุดผู้ฝึกจะต้องรู้จักใช้การเสริมแรงทางสังคมไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของคำพูดหรือท่าทาง ส่วนผู้เข้ารับการฝึกก็ควรจะรู้จักวิธีการเสริมแรงตนเอง อันจะช่วยให้การฝึกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ข้อควรระวัง การฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นไม่จำเป็นที่นักศึกษาทุกคนควรจะต้องฝึก ไม่ว่านักศึกษาคนนั้นจะมีพฤติกรรมการยอมจำนน หรือพฤติกรรมก้าวร้าวที่มากเกินไปก็ตาม ตราบใดที่พวกเขาไม่รู้สึกว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นปัญหาของพวกเขา และพวกเขายังมีความสุขกับสิ่งที่พวกเขาเป็นอยู่ เพราะการไปทำให้พวกเขาเหล่านั้นเปลี่ยนพฤติกรรมไป อาจเป็นผลเสียมากกว่าที่พวกเขาเป็นอยู่ในขณะนี้ก็ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม  อาจนำไปสู่การต่อต้านและการปรับตัวอย่างมาก ซึ่งถ้าพวกเขาไม่พร้อมที่จะรับกับสภาพของการเปลี่ยนแปลงก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
               
ประเด็นต่อมาคือผู้ฝึกจะต้องบอกผู้ที่จะเข้ารับการฝึกพฤติกรรมการกล้าแสดงออกว่าผลของการแสดงออกของพฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นอาจจะไม่เป็นบวกไปทั้งหมด ในตอนแรกอาจจะโดนต่อต้านได้จากผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใกล้ชิด แต่ในระยะยาวนั้นผลดีย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ใกล้ชิดเริ่มปรับตัวและยอมรับ
               
นอกจากนี้ยังต้องบอกกับผู้เข้ารับการฝึกด้วยว่า พฤติกรรมการกล้าแสดงออกนั้นไม่จำเป็นต้องแสดงออกในทุกสภาพการณ์และทุกเวลา เพราะในบางสภาพการณ์ บางเวลาอาจนำอันตรายมาสู่ตนเองได้ เช่น ถ้ามีบุคคลที่แสดงเป็นอันธพาลมาแซงคิว แน่นอนเขาละเมิดสิทธิของเรา แต่ถ้าเราแสดงพฤติกรรมการกล้าแสดงออกเพื่อรักษาสิทธิแห่งตน ก็อาจถูกทำร้ายร่างกายได้ ในกรณีนี้พฤติกรรมการยอมจำนนน่าจะเหมาะสมกว่า

ข้อสรุปคือ ทุกคนควรจะมีพฤติกรรมทั้งสามรูปแบบและเลือกใช้ให้เหมาะกับสภาพการณ์น่าจะ
เหมาะสมกว่า แต่ทั้งนี้พฤติกรรมการกล้าแสดงออกน่าจะเป็นลักษณะของพฤติกรรมหลักมากกว่า และทุกครั้งที่แสดงพฤติกรรม จะต้องระลึกไว้เสมอว่าจะต้องไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

เทคนิคการแก้ปัญหา (Problem Solving)
เมื่อนักศึกษาได้ฝึกการคิดดี พูดดี และทำดีแล้ว ถ้ายังพบว่ามีปัญหาในการสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่อีก สิ่งที่นักศึกษาควรได้รับการฝึก และพัฒนาตนเองเพิ่มเติมคือการฝึกการแก้ปัญหา แนวทางในการฝึกเทคนิคในการแก้ปัญหานั้น มีอยู่ด้วยกัน 4 ขั้นตอน (D’Zurilla & Goldfried, 1971)
1.              ยอมรับว่าปัญหามีอยู่และมีทางออกเสมอ ในขั้นตอนนี้นักศึกษาจะต้องมีคิดในประเด็น
ดังต่อไปนี้
1.1       แยกแยะปัญหาที่เกิดขึ้น ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และจะต้องเชื่อว่า เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นได้ก็ย่อมมีทางแก้ได้
1.2       ยอมรับว่าปัญหาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และคนเรามีศักยภาพพอที่จะแก้ปัญหาได้
1.3       การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยการประเมินทางออกในการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ

ปัญหาที่คนเราเผชิญอยู่นั้นบางครั้งไม่ชัดเจน และยากที่จะแยกแยะได้ บางครั้งพบว่าปัญหาในการแก้ปัญหานั้นอยู่ที่การแยกแยะปัญหา มิใช่อยู่ที่วิธีการแก้ปัญหา เนื่องจากว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนเรานั้นมี 2มิติ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว สภาพการณ์ของปัญหานั้นคือตัวปัญหา ถ้าเราแก้ไขสภาพการณ์ที่เป็นปัญหานั้น ได้ ปัญหาก็จะหมดไป เช่น ไม่มีเงินเพราะตกงาน หางานทำได้ปัญหาก็จะหมดไป หรือทะเลาะกับแฟนเพราะความไม่เข้าใจกัน ก็มาพูดคุยกัน ปัญหาก็น่าจะหมดไป  แต่ทว่ามีปัญหาอีกประเภทหนึ่งที่ สภาพการณ์ไม่ได้เป็นปัญหา แต่การสนองตอบต่อสภาพการณ์นั้นต่างหากที่เป็นปัญหา เมื่อเราไม่แยกแยะให้ดีเราก็จะไปหลงอยู่กับสภาพการณ์   ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เช่นเกิดติดโรคเอดส์ ปัญหามิได้อยู่ที่การติดโรคเอดส์ เพราะอย่างไรก็แก้ไม่ได้เนื่องจากติดมาแล้ว อย่างมากก็ดูแลไปตามอาการ ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า แล้วเราจะทำตัวเอง (จิตใจและร่างกาย) อย่างไรให้อยู่กับการเป็นโรคเอดส์ได้เป็นอย่างดี   หรือเลิกกับแฟน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าทำไมจึงเลิกกัน ปัญหาอยู่ที่ว่าแล้วเราจะปรับตัวปรับใจอย่างไรเมื่อไม่มีแฟนอยู่ข้างๆเราแล้ว เป็นต้น
                2. กำหนดปัญหาและตั้งเป้าหมาย  ปัญหาที่กำหนดต้องชัดเจน เพราะจะนำไปสู่การตั้งเป้าหมายที่ถูกประเด็น และหาวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมได้ เป้าหมายของปัญหาจะอยู่ที่สองประเด็นใหญ่คือ
2.1       เป้าหมายของปัญหาอยู่ที่สภาพของปัญหา
2.2       เป้าหมายของปัญหาอยู่ที่ การสนองตอบทางอารมณ์ และความคิดต่อสภาพการณ์ของปัญหานั้น เป็นปัญหาที่เกิดแล้ว จบแล้วแก้ที่ตัวสภาพของปัญหาไม่ได้ เช่นการสูญเสียคนที่รักไป อย่างไรก็ฟื้นกลับคืนไม่ได้ เป็นต้น

จากเป้าหมายของปัญหาทั้งสองประเด็นนั้น แนวทางในการแก้ปัญหาอาจทำได้ 3 แนวทางด้วยกันคือ
1.              มุ่งแก้ที่สภาพการณ์ที่เป็นปัญหา
2.              มุ่งแก้ที่การสนองตอบทางอารมณ์ และความคิดต่อสภาพการณ์ที่เป็นปัญหานั้น
3.              มุ่งแก้ทั้งสภาพการณ์ และการสนองตอบทางอารมณ์และความคิดต่อสภาพการณ์ ที่เป็นปัญหานั้น
3. หาทางออกในการแก้ปัญหาหลายๆทาง โดยไม่สนใจว่าจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม
เพียงแต่ทำรายการของทางออกในการแก้ปัญหามาให้มากที่สุดเท่าที่จะคิดได้
                4. ตัดสินเลือกทางออกในการแก้ปัญหาจากรายการทางออกที่คิดได้นั้น ซึ่งการเลือกนั้นให้พิจารณาทางเลือกเป็นรายๆไป โดย พิจารณาว่าทางออกในการแก้ปัญหาในแต่ละทางนั้น  ผลที่ตามมามีผลดีและผลเสียมากน้อยเพียงใด  และให้เลือกทางออกในการแก้ปัญหาที่ให้ผลดีมากที่สุด และผลทางลบน้อยที่สุด
                5. นำทางออกในการแก้ปัญหาที่เลือกแล้วนั้นไปใช้ และประเมินผลที่เกิดขึ้น ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ให้กลับไปดำเนินการใน ขั้นที1  2 หรือ3 ใหม่ จนกว่าจะแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่นั้นได้